ไขข้อสงสัย คนอายุน้อยเลือกพรรคนี้ คนอายุมากเลือกพรรคนั้น จริงไหม?


26 / 09 / 2019

หลังจากที่ประเทศไทยห่างหายจากการเลือกตั้งมา 5 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2557 มาถึง การเลือกตั้งปี 2562 ทำให้ครั้งนี้มีคนรุ่นใหม่ที่จะได้มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกเป็นจำนวนมาก (First-time voters) อีกทั้งยังมีพรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองหน้าใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นม้ามืดได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น และชนะการเลือกตั้งในหลายเขต กระแสการเลือกตั้ง 62 ครั้งนี้ยังนำมาซึ่งชุดความเชื่อ หรือ ทัศนคติต่อคนที่มีความคิดทางการเมืองต่างกัน (Stereotype) เช่น คนรุ่นใหม่ วัยรุ่นมักจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ ส่วนคนรุ่นเก่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคพลังประชารัฐ แต่ความคิดที่ว่านี้เป็นจริงไหม? เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยนี้ เรามาลองวิเคราะห์อายุเฉลี่ยประชากรใน 30 เขตเลือกตั้งทั่วกรุงเทพมหานคร กันดูว่าจะสัมพันธ์กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2562 นี้ไหม?

ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์

เนื่องจากเราไม่มีข้อมูล ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งว่า เป็นคนอายุเท่าไหร่ และเลือกพรรคการเมืองอะไร ข้อมูลที่ใช้จึงเป็น ข้อมูลประชากรทั้งหมด 100% ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง (พิจารณาจากบุคคลที่มีอายุ 18-100 ปี) ใน 30 เขตเลือกตั้ง ไม่ใช่ข้อมูลประชากรที่มาลงคะแนนเลือกตั้งจริง ๆ ในวันนั้น ได้แก่

  • ข้อมูลการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการประกาศพรรคที่ชนะการเลือกตั้งใน 30 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
  • ข้อมูลสถิติ จำนวนประชากรแยกรายอายุ ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ข้อมูลล่าสุดปี 2561)

ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ มีสมมติฐานว่าการที่พรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขต เป็นผลมาจากการโหวตของผู้ลงคะแนนเสียง ซึ่งสอดคล้องกับประชากรทั้งหมดในเขตนั้น ๆ

ข้อมูลนี้บอกอะไรเราได้มากแค่ไหน?

  • ข้อมูลประชากรทั้งหมดในเขตนั้น อาจมีน้อยกว่า หรือ มากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจริง เนื่องจาก เราเลือกข้อมูลประชากรอายุ 18 – 100 ปีที่จัดเก็บเมื่อเดือนธันวาคม 2561 มาวิเคราะห์ แต่ในจำนวนนั้นยังไม่หักประชากรที่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ คนที่ย้ายเขตออกไปก่อนวันเลือกตั้ง และคนที่เสียชีวิตหลังวันเก็บข้อมูล อีกทั้งผู้มีสิทธิ์อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีประชากรที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์มากขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง และคนที่ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาในเขตนั้นๆ เพิ่ม
  • จากข้อมูล กกต. มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 74.69% ในนั้นมีบัตรดีอยู่ 92.85% (ไม่รวมผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน) หมายความว่า จากประชากร 100 คนที่มีสิทธิเลือกตั้ง มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งราว 75 คน แต่มีคะแนนเลือกพรรคจากคนแค่เกือบๆ 70 คนเท่านั้น เนื่องจากมีบัตรดี (ไม่รวมผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน) เพียง 92.85% ของผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่ง 70 คนนี้ อาจเป็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าก็ได้

ถึงแม้ว่าข้อมูลที่เราใช้ในการวิเคราะห์จะไม่ใช่ข้อมูล ผู้มาลงคะแนนเลือกตั้งจริง แต่ก็สามารถแสดงรูปแบบ ความสัมพันธ์ระหว่าง อายุเฉลี่ย กับ พรรคการเมืองที่ชนะในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ในระดับหนึ่ง

 

สรุปพรรคการเมืองไหนชนะบ้างในกรุงเทพฯ
พรรคพลังประชารัฐ 12/30 40%
พรรคเพื่อไทย 9/30 30%
พรรคอนาคตใหม่ 9/30 30%

จะเห็นว่า พรรคพลังประชารัฐชนะมากที่สุด และครองแชมป์ใน ย่านใจกลางเมือง-กรุงเก่า ในขณะที่ พรรคอนาคตใหม่เป็นผู้ชนะฝั่งธนฯ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ชนะกระจายเขตอยู่ตอนหนือบ้าง ฝั่งธนฯ บ้าง

 

พรรคที่ชนะเขตเลือกตั้ง กับ อายุเฉลี่ย
เพื่อแบ่งกลุ่มอายุเฉลี่ยของคนในแต่ละเขตเลือกตั้ง กับ พรรคที่ชนะในเขตนั้น ๆ เราใช้ค่าเฉลี่ย 3 ค่า คือ Mean (ค่าเฉลี่ย) Median (ค่ามัธยฐาน) และ Mode (ค่าฐานนิยม) ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ เนื่องจาก การกระจายตัวของช่วงอายุ อาจทำให้ค่าเฉลี่ยแต่ละแบบให้ผลต่างกันมาก

 

มาดูผลการวิเคราะห์กันเลย

เมื่อจัดกลุ่มเขตเลือกตั้งตามพรรคที่ชนะ และค่าเฉลี่ยอายุในแต่ละเขตเลือกตั้งแล้ว พบว่า

  • อายุเฉลี่ย (Mean) ส่วนใหญ่ค่อนข้างเกาะกลุ่มกันอยู่ในช่วงกลางๆ หมายความว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งในเขตที่มีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ในช่วงใกล้ๆ กันหมด แต่พรรคพลังประชารัฐ ชนะใจ เขตที่มีอายุเฉลี่ยสูง มากกว่าพรรคอื่น ๆ
  • อายุมัธยฐาน (Median) แสดงถึงค่าของข้อมูลในที่นี่ก็คือ “อายุ” ที่อยู่ตรงกลางจากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นว่าทุกเขตมีค่ากลางอยู่ใกล้เคียงกัน ทั้ง 3 พรรคจึงทำคะแนนได้ไม่ต่างกัน แต่พรรคพลังประชารัฐ ได้แต้มมากกว่าจากการชนะในเขตเลือกตั้งที่มีค่ากลางของอายุมากกว่าเขตอื่นๆ สอดคล้างกับผลของค่าเฉลี่ย ที่พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งในเขตที่อายุเฉลี่ยประชากรสูง มากกว่าพรรคอื่นๆ
  • อายุฐานนิยม (Mode) เมื่อวิเคราะห์อายุที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในแต่ละเขตเลือกตั้ง พบว่าส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มกันอยู่ในช่วง 38 – 58 ปี แต่มีอยู่ 4 เขตเท่านั้นที่มีค่าฐานนิยมต่ำกว่าเขตอื่น ๆ มาก คือ มีประชากรอายุ 21 - 22 ปีมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ ในเขตเดียวกัน ซึ่ง พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคเพื่อไทย ได้แต้มจากการชนะการเลือกตั้งในเขตเหล่านี้ไป พรรคละ 2 เขต หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม 2 พรรคนี้ ถึงชนะในเขตที่มีคนอายุน้อยอยู่มาก แต่ช้าก่อน การที่มีคนอายุค่าหนึ่งอยู่มากโดดออกมา อาจมีความหมายอื่นด้วย
 
 

เขตทหาร? คนอายุ 21-22 ปีอยู่เยอะ ให้ทายว่าใครชนะ

ในบรรดาเขตเลือกตั้งทั้งหมด จะมีอยู่ 4 เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนประชากรอายุ 21-22 ปีอยู่เป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ โดดเด่นกว่าค่าอายุอื่น ๆ ในเขตอย่างมาก เรามาดูกันว่าใน 4 เขตนี้ พรรคไหนชนะบ้าง

  • เขตเลือกตั้งที่ 6
    ประกอบด้วย เขตพญาไท เขตราชเทวี และ เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล) เป็นที่ตั้งของ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ พรรคที่ชนะ คือ พรรคพลังประชารัฐ
  • เขตเลือกตั้งที่ 7
    ประกอบด้วย เขตบางซื่อ และ เขตดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี) เป็นที่ตั้งของ กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ ๑๑ เป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายตัวไปสู่กองพันอื่น ๆ ภายใต้สังกัด พรรคที่ชนะ คือ พรรคพลังประชารัฐ
  • เขตเลือกตั้งที่ 10
    ประกอบด้วย เขตดอนเมือง
    เป็นที่ตั้งของ กองพันทหารอากาศ
    พรรคที่ชนะ คือ พรรคเพื่อไทย
  • เขตเลือกตั้งที่ 12
    ประกอบด้วย เขตบางเขน
    เป็นที่ตั้งของ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
    พรรคที่ชนะ คือ พรรคเพื่อไทย

จะเห็นว่าในเขตที่มีทหารอยู่เยอะ มีจำนวนประชากรอายุ 21-22 ปีอาศัยอยู่มาก ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งเท่ากัน 2:2 ดังนั้น อายุ จึงไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการชนะเขตเลือกตั้ง และก็ไม่ได้หมายความว่า ทหารจะต้องเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิเศษเช่นกัน

สรุป

อายุ กับ พรรคที่เลือก มีผลกันบ้างแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เนื่องจากมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเห็นว่าทุกพรรค ชนะการเลือกตั้งในเขตที่มีช่วงอายุต่างกัน ในบางพื้นที่พรรคพลังประชารัฐชนะในเขตที่อายุเฉลี่ยประชากรสูงกว่าเขตอื่น ๆ แต่ก็ชนะในเขตที่มีประชากรวัยรุ่นอยู่มากเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เกีี่ยวข้อง เช่น อาชีพ เพศ ความสนใจ ทัศนคติ และอื่น ๆ

แล้วคุณล่ะ คิดว่าอายุ มีผลกับ การเลือกพรรค ไหม? Facebook Poll

เว็บไซต์อ้างอิง :

#เลือกตั้ง62 #พรรคการเมือง #อนาคตใหม่ #เพื่อไทย #พลังประชารัฐ

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

รายการ