"ฮ่องกง" Top 3 ค่าเช่าบ้านแพงสุดในโลก ต้องลี้ภัยไป "แมคโดนัลด์"


03 / 11 / 2020
  • ประมาณการเศรษฐกิจฮ่องกงปีนี้ (2563) หดตัวมากถึง 8% อัตราว่างงานสูงสุดในรอบ 15 ปี กว่า 6%
  • Top 3 ค่าเช่าที่พักอาศัยแพงที่สุดในโลก ฮ่องกงอันดับ 3 รองจากนิวยอร์กและอาบูดาบี
  • นับตั้งแต่เมษายน 2562 ถึงมีนาคม 2563 ชาวฮ่องกงต้องหลับนอนตามท้องถนนเพิ่มมากขึ้น เหตุเพราะราคาที่พักอาศัยและค่าเช่าแพงเกินเอื้อม

"ราคาบ้านเกินเอื้อมถึง" เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ที่ราคาดีดสูงขึ้นไปหลายเท่า หรือหากราคาพอเข้าถึงได้ ขนาดก็เล็กลงจนอยู่อาศัยได้เพียงไม่กี่คน ไม่งั้นก็ต้องแออัด แบ่งซอยกันอยู่ และแน่นอนว่า หนึ่งใน "ตลาดบ้าน" ที่ถูกกล่าวถึงมาอย่างยาวนาน หนีไม่พ้น "ฮ่องกง"

แม้ ณ เวลานี้ ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 (COVID-19) และภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่ "ตลาดบ้านฮ่องกง" กลับราคาทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหนึ่งในตลาดบ้านที่ราคา "เกินเอื้อมถึง" มากที่สุดในโลกไปแล้ว

บางคนอาจจะมองว่า "บ้านราคาแพงก็หาบ้านราคาถูกอยู่สิ หรือเช่าตามที่ตัวเองไหว" ซึ่งมันก็ถูก...หากมองในมุมที่มีตัวเลือกเยอะแบบบ้านเรา

แต่ในบางเมืองบางประเทศไม่ง่ายขนาดนั้น อย่างในเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ราคาที่พักอาศัย ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ล้วนราคาแพงเกินเอื้อมถึง คนท้องถิ่นไม่สามารถซื้อได้ สุดท้ายมีแต่คนจีนเข้ามาจับจอง พอเกิดโควิด-19 เขากลับประเทศกันหมด ที่พักอาศัยหลายแห่งกลายสภาพเป็น "ตึกร้าง"

"ฮ่องกง" เองแม้ไม่ถูกต่างชาติเข้ายึดครองที่พักอาศัย แต่ "ราคา" กลับแพงจนเกินเอื้อมถึง เป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก

ยิ่งอยู่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากวิกฤติโควิด-19 ประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 อาจหดตัวมากถึง -6% ถึง -8% จากเดิมที่รัฐบาลฮ่องกงคาดการณ์ว่าเลวร้ายสุดจะอยู่ที่ -4% ถึง -7% บวกกับอัตราการว่างงานที่ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม อยู่ที่ 5.9% ทำให้การเข้าถึง "ที่พักอาศัย" เป็นไปได้ยากขึ้น

รู้ไหมว่า ในเดือนสิงหาคม ชาวฮ่องกงถูกเลิกสัญญาเช่ากว่า 9.2% นับจากปีที่ผ่านมา

"ตกงาน" โดยไม่ทันตั้งตัว "ค่าเช่าบ้าน" ราคาสูง โอกาสในการเข้าถึงหรือถือครองที่พักอาศัยของชนชั้นแรงงานและคนที่ยืนอยู่ริมขอบเส้นความยากจน...เป็นไปได้ยากกว่าเดิม ทั้งราคาและจำนวน

ปัญหาที่ว่านี้...สร้างแรงกดดันให้กับคณะบริหารของผู้บริหารสูงสุด "แคร์รี แลม" อย่างมาก กับการดิ้นรนกู้คืนความเชื่อมั่นจากประชาชนนับล้าน หลังก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า International Security Law ด้วยการให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชน 6,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 24,239 บาท

แต่นั่นก็แทบไม่ช่วยอะไร...

 

ตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ หากคุณได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 6,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (24,239 บาท) แต่ราคาอพาร์ตเมนต์นอกเมือง 1 ห้องนอน ที่ต้องจ่ายสูงเกือบ 13,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (52,518 บาท) หรืออพาร์ตเมนต์ใจกลางเมือง 1 ห้องนอน ก็มีราคาสูงถึง 18,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (72,717 บาท)

แต่ในความเป็นจริงแล้ว...การจะอยู่อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน ไม่ว่าจะเป็นใจกลางเมืองหรือนอกเมือง ก็เป็นเรื่องยากทั้งนั้นสำหรับชาวฮ่องกงตอนนี้

ภาพที่เกิดขึ้นคือ ชาวฮ่องกงหลายๆ คนที่อยู่ในสถานะ "ตกงาน" ต้องต่อคิวรอแบ่งห้องในโฮสเทล จ่ายเงิน 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (20,199 บาท) แลกกับที่พักอาศัยขนาด 60 ตารางฟุต ห้องพักที่เล็กเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของลานจอดรถ แถมหน้าต่างยังต้องปิดแทบตลอดเวลา เพื่อหลบหนีจากหนูที่วิ่งไปมาและกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง

นอกจากเงินช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลฮ่องกงให้อะไรอีกบ้าง?

ในถ้อยแถลงของตัวแทนรัฐบาลฮ่องกง ระบุว่า รัฐบาลจะทำอย่างดีที่สุดในการให้การช่วยเหลือผู้ที่ต้องไปอาศัยหลับนอนบนถนน ผ่านองค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาล ทั้งการจัดหาห้องพักในโฮสเทลและเสบียงอาหาร รวมถึงสิ่งจำเป็นอื่นๆ เช่น การตัดผม, มื้ออาหาร และการอาบน้ำ โดยทางกรมประชาสงเคราะห์มีการเพิ่มมาตรการขยายการช่วยเหลือกรณีการว่างงานและถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ด้วย

แต่จากผลการสำรวจ ชาวฮ่องกงกลับมองว่า สิ่งที่รัฐบาลทำยังไม่เพียงพอ และรู้สึกว่า... "พวกเขากำลังถูกทอดทิ้ง"

"ค่าเช่า" ที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง พวกเขาอาจไม่สามารถเอื้อมถึง และคงต้องมองหาที่อยู่ใหม่เรื่อยๆ จนกระทั่ง...หมดหนทาง และเลือกไปอยู่บนท้องถนน

ฮ่องกง Top 3 ค่าเช่าที่พักอาศัยแพงสุดในโลก

ถึงแม้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮ่องกงจะลดลง และธุรกรรมที่อยู่อาศัยจะลดลง 3% ในปี 2562 ก็ตาม แต่จากผลการศึกษาครึ่งปีแรก 2563 ของ CBRE Group บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า "ฮ่องกง" ยังคงเป็นเมืองที่การซื้ออสังหาริมทรัพย์มีราคาแพงที่สุดในโลก เพิ่มขึ้นเกือบ 5% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ล้านบาท ส่วนค่าเช่ารายเดือนก็เฉลี่ยอยู่ที่ 84,000 บาท ลดลงจากปีที่แล้ว 1.7% แต่ก็ยังสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากนิวยอร์ก 90,000 บาทต่อเดือน และอาบูดาบี 89,000 บาทต่อเดือน

คิดภาพการใช้ชีวิตของ "ชาวฮ่องกง" ผ่านตัวเลขที่น่าสนใจ

ปัจจุบัน ฮ่องกงมีประชากร 7,524,100 คน หากพวกเขาจะ "ซื้อบ้าน" ต้องเตรียมเงินเกือบ 50 ล้านบาท เพราะราคาบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ล้านบาท อัตราเติบโต 4.7% หากจะ "เช่าบ้าน" ก็ต้องเตรียมเงินเกือบแสน เพราะค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 84,000 บาท (ลดลง 1.7%) ในขณะที่ พวกเขาที่ทำงานเต็มเวลามีเงินเดือนเฉลี่ย 1,900,000 บาท หากแยกย่อยที่พวกเขาต้องจ่ายอื่นๆ อีก เช่น มื้ออาหารสำหรับ 2 คน 1,600 บาท, ค่าสมาชิกฟิตเนส 2,300 บาท, ค่าโรงเรียนประถม 574,000 บาท และค่ากาแฟ 145 บาท

เมื่อพวกเขาสู้ค่าเช่าไม่ไหว...เราจึงเห็น "คนนอนบนถนน" มากขึ้น

 

Homeless ภาพสะท้อนฮ่องกง

นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 จนถึงเดือนมีนาคม 2563 ตัวเลขของ "คนที่นอนบนถนน" ในฮ่องกง เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,423 คน จากเดิม 1,297 คนในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากจะมองว่านี่คือ "ภาพสะท้อนที่แท้จริง" ก็คงไม่ใช่ เพราะโฆษกกรมประชาสังเคราะห์ยอมรับว่า ไม่สามารถนับได้ว่า "คนไร้บ้านในฮ่องกงทั้งหมดมีกี่รายกันแน่"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ "โฮมเลส" (Homeless) หรือ "คนไร้บ้าน" ในฮ่องกงเลวร้ายลง ซึ่งจากการสำรวจขององค์กรสังคมเพื่อการสื่อสาร พบว่า 36.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยอมรับว่า พวกเขาเริ่มเป็น "โฮมเลส" ในปีนี้

จากการลงพื้นที่สำรวจของ ImpactHK องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐบาล (NGO) พบว่า ตามหลังคา, อุโมงค์ หรือสะพานลอย มักจะพบเห็นกลุ่มประชาชนอายุน้อยรวมตัวกัน เพราะพวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัย โดยผู้ก่อตั้ง ImpactHK มองว่า รัฐบาลฮ่องกงไม่ได้ช่วยเหลือหรือคุ้มครองผู้เช่าเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น การที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ยุติการฟ้องขับไล่ผู้เช่าชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือการที่นายกเทศมนตรีลอนดอนออกคำสั่งแช่แข็งค่าเช่าในเมืองหลวงเป็นระยะเวลา 2 ปี

นอกจากการนอนบนถนนแล้ว ยังมี "โฮมเลส" ที่เรียกกันว่า McRefugees

 

MeRefugees เป็นคำผสมมาจากคำว่า Mc ที่มาจาก McDonald และ Refugee ที่แปลว่า ผู้ลี้ภัย ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่ไปอาศัยหลับนอนในร้านแมคโดนัลด์นั่นเอง

ทำไมพวกเขาถึงเลือก "แมคโดนัลด์" (McDonald)

McRefugees ในย่านซัมซุยโป หนึ่งในย่านที่แออัดมากที่สุดของฮ่องกง ให้เหตุผลกับองค์กรสังคมเพื่อการสื่อสารสั้นๆ ว่าเพราะแมคโดนัลด์เปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่นับตั้งแต่มีการบังคับใช้ข้อบังคับเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการจำกัดชั่วโมงของร้านอาหาร เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ก็เป็นเพียงร้านเดียวที่ทานอาหารภายในร้านได้จนถึงเที่ยงคืน

หลังจากนั้นพวกเขาไปอยู่ไหน?

McRefugees บอกว่าที่หลับนอนพวกเขาเปลี่ยนเป็น "ม้านั่ง" ใกล้ๆ โรงพยาบาล เพราะมีห้องอาบน้ำที่สะอาดและการระบายอากาศที่ดี หรือหากเต็ม...ก็ต้องไปนอนบนถนนแทน

จาก McRefugees พวกเขากลายเป็น "โฮมเลส" ที่อาศัยหลับนอนบนถนน และนับวันๆ ก็ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จบสิ้นปีอาจมีอีกหลายรายที่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยเหล่านั้นได้

ภาพของ "ฮ่องกง" นับจากนี้ อาจไม่เป็นเหมือนที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป...

การใช้ชีวิตที่ยากลำบาก หากไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านเอง งานต่างๆ ก็ล้วนได้ยากมากขึ้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และการเผชิญกับค่าเช่าที่แสนแพงเพื่อแลกกับห้องรูหนู...

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Varanya Phae-araya

 

 

เว็บไซต์อ้างอิง : thairath

#special content #ฮ่องกง #อสังหาริมทรัพย์ #ตลาดบ้าน #ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ #รายงานพิเศษ

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ