เปิดมุมมอง ดร.เศรษฐพุฒิ ถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องตรงจุด และแม่นยำ


09 / 11 / 2020

เปิดมุมมอง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 21 เปรียบเทียบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าจะใช้กระสุนต้องแม่นยำ และ ต้องตรงจุด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 21 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานเสวนา "เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก" ซึ่งจัดโดยเครือไทยรัฐกรุ๊ป และ กลุ่ม ปตท. จัดเวทีเสวนาใหญ่แห่งปี ครั้งแรกในรอบ 70 ปี ภายใต้แนวคิด "Sharing Our Common Future ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน" ในวันพุธที่ 11 พ.ย.63 นี้

 

สำหรับ ดร.เศรษฐพุฒิ จบการศึกษาด้านปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมสูงสุด) จาก Swarthmore College สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Yale University สหรัฐอเมริกา

 

แม้จะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติได้ไม่นาน แต่ชื่อของ ดร.เศรษฐพุฒิ ก็เป็นที่รู้จักในแวดวงการเงินการลงทุน ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์กับ BOT MAGAZINE เกี่ยวกับมุมมองและการทำงานว่า ผมเริ่มต้นการทำงานที่ McKinsey ที่ New York ซึ่งช่วยหล่อหลอมทัศนคติ และวิธีการทำงานให้ผมจนกระทั่งทุกวันนี้

เรื่องแรกคือ วัฒนธรรมการ debate คือ หากต้องการจะระดมความคิดกัน ไม่สำคัญว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หน้าที่ของเราคือ การถกเถียงกันเพื่อปิดช่องว่าง และให้แน่ใจว่าเราได้ผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้กับลูกค้า

 

เรื่องที่สอง คือ โครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถเลือกใช้คนจากทุกทีมได้โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์กับงานมากที่สุด ไม่ต้องยึดติดกับโครงสร้างหรือสายงาน ภาษาที่ McKinsey ใช้คือ "one firm concept" คือ รูปแบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เราไม่หลงทาง มีแนวทางที่ชัดเจน และไม่ว่าจะทำงานที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือสาขาใด เราก็สามารถต่องานกันได้เหมือนพูดเข้าใจในภาษาเดียวกัน

นอกจากประสบการณ์ทำงานที่ McKinsey แล้ว การทำงานที่ธนาคารโลกยังเป็นประสบการณ์ที่ดีมากของ ดร.เศรษฐพุฒิ โดยเฉพาะสำหรับการต่อยอดงานที่แบงก์ชาติ เพราะทั้งสององค์กรมีอะไรคล้ายๆ กัน ประกอบกับประสบการณ์ที่เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขณะเดียวกันก็เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ด้วย ทำให้ผู้ว่าการท่านใหม่เข้าใจถึงความท้าทายในการทำงานของคนแบงก์ชาติได้เป็นอย่างดี

 

"ลักษณะโดดเด่นที่เหมือนกันของคนแบงก์ชาติและธนาคารโลก คือมีความเป็น technocrat หมายถึง ละเอียด เชี่ยวชาญ ลงลึกรู้จริง แต่เพราะเรามีเวลาและข้อมูลที่จำกัด โดยเฉพาะในยามที่เราต้องเร่งเยียวยาแก้ไข จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์เต็ม 100% ได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างสมัยผมทำงานที่ธนาคารโลก รายงานบางอย่างก็รู้สึกเหมือนเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ทำเพื่อเก็บไว้มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย"

ดังนั้น การทำสิ่งที่ถูกต้องและให้ถูกเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมเรียกว่า getting the right things right หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคนแบงก์ชาติไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่ในห้องแล็บ แต่ผมมองว่าเราคือหมอที่มีคนไข้ที่รอการรักษาและเราจะต้องทำอะไรบางอย่าง เราเป็นหน่วยงานที่ต้องผลิตนโยบายที่ work และใช้ได้จริงแต่ไม่ได้ผลิต work of art

จากประสบการณ์การแก้วิกฤติปี 40 สู่มุมมองต่อวิกฤติโควิด 19

 

ดร.เศรษฐพุฒิ บอกว่า ในฐานะที่เคยทำงานอยู่กระทรวงการคลังและเป็นหนึ่งในทีมงานแก้วิกฤติปี 2540 และในครั้งนี้กับบทบาทผู้ว่าการ ธปท. ที่ต้องดูแลด้านเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงวิกฤติโควิด 19 เขาได้ให้มุมมองต่อสองเหตุการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจ

สำหรับวิกฤติปี 40 อาจจะเป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของคนแบงก์ชาติมากกว่า เพราะเกิดกับสิ่งที่อยู่ในความดูแล เช่น สถาบันการเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งครั้งนั้นยังพอมีตำรา มีเครื่องมือที่ช่วยแก้ไข แต่ครั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันหมดทั้งโลก

วิกฤติ โควิด-19 จึงหนักกว่าปี 40 ซึ่งแก้ได้ยากกว่า เพราะผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง และลงลึกไปถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งความคาดหวังจากภายนอกต่อแบงก์ชาติสูงขึ้นและบางอย่างก็อยู่นอกเหนือความสามารถของเราเองด้วยซ้ำ

"ครั้งนี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ใดทางแก้หนึ่งเป็นสูตรสำเร็จ ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งเราต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าความท้าทายนี้หนัก ยาก ยาวนาน แต่แก้ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา"

สำหรับบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากปี 40 คือ การแก้ปัญหาจากภาครัฐ เราจะทำมากเกินไปไม่ได้ เพราะภาครัฐมีความสามารถในการจัดการที่จำกัดและลดลงด้วยในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายที่มีต้นทุน และผลข้างเคียง หากสาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำอาจกลายเป็นผลลบ เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นแล้วอาจไม่เหลือกระสุนให้ใช้ ซึ่งหากสังคมขาดความเชื่อมั่น ก็จะทำให้องค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลและออกนโยบายทำงานยากขึ้นหลายเท่าเช่นกัน

ทั้งนี้ สามารถรับชมการเสวนา เรื่อง "เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก" ได้ทาง website : www.thairath.co.th : Facebook : thairath ของ ยูทูบ : Thairath

(ขอบคุณข้อมูลจาก BOT MAGAZINE)

 

 

เว็บไซต์อ้างอิง : thairath

#SharingFuture #Sharing Our Common Future #เวทีเสวนาโควิด-19 #ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน #เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ #ข่าวทั่วไป

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ