ค รม.เคาะหลักเกณฑ์ “อาคารสูง- ป้าย” 7 ประเภท ต้องทำประกันภัย


16 / 12 / 2020

15 ธันวาคม 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิด หรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัย ที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ....  ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัย ที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินการ ต้องทำประกันภัย เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการก่อสร้างอาคาร สภาพอาคาร การบำรุงรักษาอาคาร หรือการใช้อาคาร  โดยยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารฯ ต้องทำการประกันภัยฯ พ.ศ. 2548 

 

สำหรับสาระสำคัญร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ มีดังนี้ 

 

1.กำหนด ให้การก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย รื้อถอน หรือการใช้อาคารของเอกชน ต้องทำประกันภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งอาคารของเอกชน ได้แก่

-อาคารขนาดใหญ่

-อาคารขนาดใหญ่พิเศษ

-อาคารสูงของเอกชน

-อาคารชุมนุมคน

-โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีห้องพักในอาคารหลังเดียวตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป

-สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

-ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

2.กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทต่อครั้ง และคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก ไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งการได้รับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ไม่เป็นการตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น

3.เมื่อ เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารที่ทำประกันภัยแล้ว จะต้องแสดงสำเนากรมธรรม์ประกันภัยไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจนภายใน อาคารนั้นด้วย

4.อาคารที่มีอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงบังคับใช้ จะต้องทำประกันภัย โดยยื่นหลักฐานการทำประกันภัยต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้ และให้ยื่นหลักฐานการทำประกันภัยทุกปีระหว่างการใช้อาคารนั้น ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น 

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน

 

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.thansettakij.com/content/property/460380?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=property

#มติ ครม.15 ธ.ค.63 #คณะรัฐมนตรี #ครม. #ครม.อนุมัติ #ครม.เห็นชอบ

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ