ปลดล็อกซอฟต์โลน 5 แสนล. ส.อ.ท.อ้อนแบงก์ลดเงินกู้ 1% เสริมสภาพคล่อง


21 / 01 / 2021

ส.อ.ท.เตรียมหารือกับ ธปท. วันที่ 22 ม.ค.นี้ เพื่อหาแนวทางปลดล็อกเงินซอฟต์โลน 5 แสนล้าน ที่ปล่อยได้เพียง 1.2 แสนล้าน จ่อเสนอ 5 ประเด็นเพิ่มเติมจากข้อเสนอของกมธ. พร้อมแนะสถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้ 1% ขับเคลื่อน ศก.หลังต้นทุนทางการเงินต่ำลง หนุนเปิดคนละครึ่งเฟส 3 ช้อปดีมีคืน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ส.อ.ท.โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) จะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ว่าด้วยการคลายล็อกพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 500,000 ล้าน บาท ที่มีการอนุมัติก่อนหน้านี้ และล่าสุดคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอให้พิจารณาแนวทางใหม่ ซึ่ง ส.อ.ท.จะนำเสนอ แนวทางแก้ไขที่สำคัญๆ 5 ประเด็น เพื่อให้เม็ดเงินดังกล่าวเข้าไปเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีได้ตรงตามเป้าหมาย

 

วงเงินสินเชื่อดังกล่าว ภาครัฐได้อนุมัติให้นำมาปล่อยกู้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีมานานนับ 1 ปีแล้ว แต่สามารถปล่อยสินเชื่อได้จริงไปเพียง 120,000 ล้านบาท เพราะมีข้อเงื่อนไขค่อนข้างรัดกุม ทำให้ กมธ.การเงินการคลัง จึงเสนอแก้ไขบางเรื่องให้ผ่อนปรนลงมา ซึ่งประเด็นที่ กมธ.การเงินการคลัง เสนอแก้ไขส่วนใหญ่ ส.อ.ท. ก็ได้เห็นด้วย อาทิ สถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ยืม พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ ธปท.ภายใน 5 ปี เป็นต้น แต่ก็มีบางประเด็นที่เห็นว่าต้องเพิ่มเติม โดยเฉพาะการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน เพราะเดิมไม่ให้ บสย.ช่วย ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งจุดนี้อาจจะประสบปัญหา เช่น ที่ผ่านมา ที่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงวงเงินเกือบ 400,000 ล้านบาท และเรื่องนี้คาดว่าในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ก็จะมีการสรุปข้อเสนอต่างๆให้ ธปท.แล้วยังจะเสนอให้กับ รมว.คลังพิจารณาต่อไป”

สำหรับข้อเสนอ มาตรการเสริมสภาพคล่อง เอสเอ็มอีที่ ส.อ.ท.จะขอเสนอเพิ่มเติมมี 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอไม่จำกัดวงเงินกู้ในการขอสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามารถ ในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเป็นรายๆไป 2.ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก 3.ขอให้มีการปรับจัดลำดับการตัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ตัดจากเงินต้นก่อน เพื่อเป็นการปรับลดจำนวนหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ 4.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลง 1% และ 5.ให้ บสย.ช่วยค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่ม 40%

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ ส.อ.ท.ก็ยังต้องการเสนอแนะให้ ธปท.ช่วยพิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินในประเทศไทย ที่ขณะนี้มีทิศทางลดต่ำลงมากกว่า 1% เพราะเห็นว่าสถานภาพดังกล่าวสถาบันการเงินสามารถที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ในประเทศและประชาชน ที่มีภาระการกู้เงิน เช่น การกู้ผ่อนบ้านได้ โดยหากลดลง 1% ก็ยังไม่กระทบกับสภาพคล่องของสถาบันการเงินมากนัก และตรงกันข้ามจะช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพิ่มเติม ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆอย่างเข้มงวด 2.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของประเทศไทย 3.เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเห็นว่ามาตรการที่ผ่านมา เช่น เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ 4.สนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืนในปีนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ ปี 2564.

 

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/2016881

#โควิด-19 #ผลกระทบทางเศรษฐกิจ #ซอฟต์โลน #ปลดล็อกซอฟต์โลน #ดอกเบี้ยเงินกู้ #ข่าวทั่วไป #ลดดอกเบี้ย

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ