เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

อภิมหาโครงการ Mega Projects กำลังต่อคิวกันรอเปิดในประเทศไทยมากมาย เมกะโปรเจกต์ ที่ว่านี้หมายถึงโครงการขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณการลงทุนสูง อาจเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนล้วน ๆ ก็ได้ เมกะโปรเจกต์มักเป็นโครงการที่สร้างผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์การใข้ชีวิตของคนเมือง และการลงทุนอย่างมาก เช่น อาจจะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา สร้างดีมานด์ในพื้นที่ ดึงดูดให้คนเข้าไปใช้ชีวิต ไปทำงาน ไปลงทุนและอื่น ๆ ทำให้พื้นที่ได้รับการพัฒนามากขึ้นด้วย เอาล่ะ หลายคนคงตื่นเต้นกันแล้วว่าเมกะโปรเจกต์เหล่านี้จะเป็นโครงการอะไรบ้าง เปิดเมื่อไหร่ โปรเจคใหญ่ขนาดไหน และมีอะไรบ้าง TOOKTEE ได้รวบรวมข้อมูลโครงการที่กำลังจะเปิดในอีก 6 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2567 ให้ทุกคนได้ไปอัพเดทกันถ้วนหน้า
 

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

 

ปี 2562

1.Central Village

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

ทำเล: ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เพียง 10 นาที
มูลค่าการลงทุน: 5,000 ล้านบาท
พื้นที่: ที่ดิน 100 ไร่ และเนรมิตพื้นที่ขายกว่า 40,000 ตร.ม.
ผู้พัฒนา: บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
แผนเปิดให้บริการ: สิงหาคม 2562

Central Village เซ็นทรัล วิลเลจ ชูจุดเด่นเมืองสนามบิน Aerotropolis เปิดตัวในคอนเซป์ The First International Luxury Outlet in Thailand บนที่ดิน 100 ไร่ และเนรมิตพื้นที่ขายกว่า 40,000 ตร.ม. อันประกอบด้วยโรงแรมมาตรฐานระดับโลก ร้านอาหาร จุดบริการนักท่องเที่ยว สนามเด็กเล่น พร้อมกับรถรับส่งไป-กลับจากสนามบินด้วยเวลาเพียง 10 นาที เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงดูดนักช้อปจากทั่วโลกเข้ามาใช้บริการได้ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนต่อปี หรือวันละกว่า 17,000 คน

เอาใจขาช็อปด้วยการรวบรวมร้านดัง ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ ระดับไฮเอนด์มาเปิดร้านลดราคาให้คนไทยและนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยกันได้ทุกวัน แบรนด์ดังที่จะมาเปิดร้านใน Central Village ได้แก่ Polo Ralph Lauren, Kenzo, Vivienne Westwood, CK Jeans, Adidas, Matter Makers, Converse, Superdry, Rip Curl, Roxy, Quiksilver, Guess, Samsonite และ G2000 ยังไม่รวมสินค้าไลฟ์สไตล์ด้านอื่น ๆ ที่จะมาให้ช็อปกันได้อย่างจุใจ
https://www.brandbuffet.in.th/2018/12/cpn-central-village-outlet-airport/

ปี 2563

1.    สุวรรณภูมิ เฟส 2

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!


ทำเล : พัฒนาต่อจากสนามบินสุวรรณภูมิเดิม
มูลค่าการลงทุน: 51,862 ล้านบาท 
พื้นที่: อาคารเทียบเครื่องบินรอง 216,000 ตารางเมตร และลานจอด 960,000 ตารางเมตร
ผู้พัฒนา: บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)
แผนเปิดให้บริการ: เมษายน 2563

สุวรรณภูมิ เฟส 2 เป็นโครงการที่ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายตั้งแต่ขั้นตอนการประกวดแบบ จนกระทั่งการก่อสร้างโครงการล่าช้าในปัจจุบัน แต่อย่างไรเสีย โครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 นี้จะมาแน่ ๆ เพราะทอท. ย้ำว่างานก่อสร้างเสร็จตามเป้าในเดือนเมษายน 2563 โดยคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเครื่องบินได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง 
โครงการประกอบด้วย

  • อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ในอนาคตทั้งอาคารจะมี 4 ชั้น พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร และร้านค้า 20,000 ตร.ม. งบประมาณลงทุน 14,235 ล้านบาท

  • ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ประกอบด้วยหลุมจอดเครื่องบินจำนวน 28 หลุม ตั้งอยู่ประชิดอาคารสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ รองรับเครื่องบินขนาดแอร์บัส A–380 จำนวน 8 หลุมจอด และเครื่องบินขนาดโบอิ้ง B-747 จำนวน 20 หลุมจอด รวมพื้นที่ 960,000 ตารางเมตร งบประมาณ 12,050 ล้านบาท

  • อุโมงค์เชื่อมต่อด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสารเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะใช้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรอง

  • อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก วงเงิน 970 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกประกาศทีโออาร์ประมูล จะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค.นี้ ตามแผนจะเสร็จในเดือน พ.ย. 2563 

https://www.prachachat.net/property/news-298626


2.    The PARQ’ (เดอะ ปาร์ค) 

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!


ทำเล: ติดถนนพระราม 4 และถนนรัชดาภิเษก (เดิมเป็นที่จอดรถของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)
มูลค่าการลงทุน: 20,000 ล้านบาท
พื้นที่: 24 ไร่ พื้นที่อาคารรวม 320,000 ตารางเมตร
ผู้พัฒนา: บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด
แผนเปิดให้บริการ: ต้นปี 2563

The PARQ (เดอะ ปาร์ค) โครงการมิกซ์ยูสในกลุ่มของทีซีซี ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งอยู่บนทำเลติดถนนพระราม 4 ตั้งเป้าจะเป็นโครงการที่ล้ำหน้าที่สุดในกรุงเทพมหานคร โดยชูคอนเซปท์ “Life Well Balanced” หรือการใช้ชีวิตอย่างสมดุล เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตและการทำงานของคนในกรุงเทพมหานคร เน้นการออกแบบที่ยั่งยืน และนวัตกรรมสมาร์ทเซอร์วิสอย่างครบวงจร โดยในเฟสแรกที่จะเปิดให้บริการต้นปี 2563 นี้จะประกอบไปด้วยพื้นที่สำนักงาน The PARQ Workplace ที่ออกแบบตามมาตรฐานทั้ง LEED Gold** และWELL*** ขนาด 60,000 ตารางเมตร และพื้นที่ค้าปลีก โดดเด่นด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในทุกๆ วัน ให้แก่ผู้ที่ทำงานในโครงการและผู้มาเยี่ยมเยือน อาทิ สวนลอยฟ้ากลางแจ้งขนาดใหญ่ คุณภาพอากาศหมุนเวียนภายในอาคาร น้ำดื่มที่จัดไว้ให้ในบริเวณพื้นที่เตรียมอาหารของทุกชั้น พื้นที่จอดจักรยานสำหรับผู้ที่สัญจรด้วยจักรยานและผู้ที่รักการออกกำลังกาย และส่งเสริมไลฟ์สไตล์การใชัชีวิตของคนเมืองด้วย The PARQ Life พื้นที่ร้านค้าปลีกระดับพรีเมี่ยม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์อาหารระดับคุณภาพ บนพื้นที่ขนาดรวม 11,000 ตารางเมตร ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Eat Well and Shop Well” ร้านค้าปลีก

โครงการ ‘The PARQ’ (เดอะ ปาร์ค) ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ทุกเฟสในปี 2566 โดยที่ดินของโครงการเป็นที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นระยะเวลา 30 ปี และได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินต่อเนื่องต่ออีก 30 ปี
https://www.brandbuffet.in.th/2018/06/the-parq-mixed-use-project/

ปี 2564

1.    ONE Bangkok

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!


ทำเล: ติดถนนพระราม 4 และถนนวิทยุ (เดิมเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์)
มูลค่าการลงทุน: 120,000 ล้านบาท
พื้นที่: 104 ไร่ พื้นที่อาคารรวม 1.83 ล้านตารางเมตร
ผู้พัฒนา: การร่วมทุนระหว่างบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
แผนเปิดให้บริการ: 2564

‘One Bangkok’ พลิกโฉมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ สร้างแลนด์มาร์คใหม่พร้อมมิกซ์ยูสที่ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในไทย ในเฟสแรกจะเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2564 และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2568 จะมีพื้นอาคารรวม (Gross Floor Area) ทั้งหมด 1.83 ล้านตารางเมตร โดยตั้งอยู่บนที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในทำเลทองบริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ติดกับสวนลุมพินี เชื่อมต่อโดยตรงกับระบบขนส่งมวลชน

โครงการ ‘One Bangkok’ (วัน แบงค็อก) ประกอบไปด้วยอาคารสำนักงานเกรดเอที่สร้างตามมาตรฐาน LEED และ WELL โรงแรมหรูที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ 5 โรงแรม ที่พักอาศัยระดับอัลตราลักชัวรี่ 3 อาคาร พร้อมด้วยร้านค้าปลีก และพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายครบครัน ซึ่งจัดสรรไว้ในบริเวณต่างๆ อย่างแตกต่างแต่ลงตัว ภายใต้คอนเซปต์ของโครงการ ‘One Bangkok’ (วัน แบงค็อก) ที่ยึดหลักความยั่งยืน ด้วยการออกแบบตามมาตรฐานการพัฒนาชุมชนแวดล้อมระดับลีดส์แพลตินัม (LEED for Neighbourhood Development Platinum) รวมถึงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่ง 50 ไร่จากพื้นที่โครงการ 104 ไร่ ทางเดินขนาดกว้างมากกว่า 40 เมตร ที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้เขียวขจี นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรพื้นที่ขนาด 10,000 ตารางเมตร ใจกลาง ‘One Bangkok’ (วัน แบงค็อก) ให้เป็นพื้นที่กิจกรรมที่ทุกคนสามารถมาสนุกสนานและเพลิดเพลินไปกับการทำกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมได้ ตลอดจนสามารถใช้เป็นพื้นที่จัดงานนานาชาติ หรือเทศกาลของไทยได้อย่างเหมาะสมลงตัวด้วย” ทั้งนี้ โครงการคาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 60,000 คนเข้ามาทำงานและพักอาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ ‘One Bangkok’ (วัน แบงค็อก)”
https://www.brandbuffet.in.th/2017/04/one-bangkok-mega-project-tcc-group/

 

2.    สถานีกลางบางซื่อ

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

 

ทำเล: เขตจตุจักร ใกล้กับ MRT สถานีบางซื่อและกำแพงเพชร
มูลค่าการลงทุน: 34,000 ล้านบาท
พื้นที่: พื้นที่ย่านพหลโยธิน 2,325 ไร่ พื้นที่อาคารรวม 300,000 ตารางเมตร
ผู้พัฒนา: การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดรับการร่วมทุนแบบ PPP
แผนเปิดให้บริการ: มกราคม 2564

การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ (Grand Central Station) ศูนย์กลางการเดินทางของไทยและอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ให้เป็นศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับอาเซียน Transit Hub ความคืบหน้าการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ (Bang Sue Grand Station) หลังจากใช้เวลาก่อสร้างมาเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ล่าสุดการก่อสร้างมีความคืบหน้าราว 60-70% พร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2564

โดยสถานีกลางบางซื่อ จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่รองรับรถไฟฟ้าถึง 4 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ฝั่งบางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค, สายสีแดงเข้ม ฝั่งบางซื่อ-รังสิต-ธรรมศาสตร์, สายสีแดงอ่อน ฝั่งบางซื่อ-ตลิ่งชัน และสายท่ากาศยาน (แอร์พอร์ตลิงค์) ฝั่งดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท โดยที่รถไฟฟ้าทั้ง 4 สายนี้จะเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อการเดินทางสู่ 10 เส้นทางคมนาคมรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง และรถไฟความเร็วสูง ตัวอาคารสถานีกลางบางซื่อมีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร จำนวน 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดินพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300,000 ตารางเมตร โดยตัวอาคารสถานีมีทั้งหมด 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดินเป็นลานจอดรถที่สามารถรองรับได้กว่า 1,700 คัน ชั้น 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร เขตร้านค้า พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้น 2 จุดเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. และ บขส. และชั้น 3 เป็นชานชาลาของรถไฟสายต่างๆ รวมทั้งหมด 24 ชานชาลา

ในด้านของการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน พื้นที่รวม 2,325 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 แปลง ประกอบด้วย แปลง A พื้นที่พัฒนาเป็น Smart Business Complex แปลง B พื้นที่พัฒนาเป็น Asean Commercial and Business Hub แปลง C พื้นที่พัฒนาเป็น MICE Super Arena (Including Exhibition Center) แปลง D พื้นที่พัฒนาเป็น Commercial Area (Chatuchak Market) แปลง E พื้นที่พัฒนาเป็น Covernment Office แปลง F พื้นที่พัฒนาเป็น Shopping Mall แปลง G พื้นที่พัฒนาเป็น Residential Area แปลง H พื้นที่พัฒนาเป็น Mixed Use (พื้นที่พัฒนาแบบผสมผสาน) และแปลง I พื้นที่พัฒนาเป็น Residential Area โดยกำหนดระยะการพัฒนาไว้รวม 15 ปีแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระหว่างปี 2561-2565 ปี 2566-2570 และปี 2571-2575 

https://www.thebangkokinsight.com/68320/

 

ปี 2565

1.    The Forestias

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

 

ทำเล: ติดถนนบางนา-ตราด (ใกล้เมกาบางนา)
มูลค่าการลงทุน: 9 หมื่นล้านบาท
พื้นที่: 300 ไร่
ผู้พัฒนา: บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
แผนเปิดให้บริการ: 2565

เดอะ ฟอเรสเทียส (The Forestias) ป่ากลางเมืองบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 7 ด้วยมูลค่าโครงการมากถึง 9 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการใหญ่มิกซ์ยูสในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานคร ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความสุข” ที่ออกแบบให้พื้นที่ธรรมชาติและสังคมอยู่รวมกัน ประกอบด้วยโครงการที่อยู่อาศัย พื้นที่รีเทล อาคารและสำนักงาน ศูนย์สุขภาพ อาคารนวัตกรรมแห่งอนาคต ผืนป่าสันทนาการ พื้นที่สำหรับชุมชน ศูนย์เรียนรู้ พร้อมทั้งองค์ประกอบสำคัญ 4 หมวดใหญ่ ได้แก่

  1. 50 Shades of Nature มิติการใช้ชีวิตท่ามกลางระบบนิเวศธรรมชาติ ที่รวมพืชพันธุ์กว่า 38 สำยพันธุ์ และสัตว์กว่า 123 สายพันธุ์ ให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนได้อย่างสมดุล รวมทั้งพื้นที่ป่ำธรรมชำติ 4 ระดับ ได้แก่ ป่าทึบ ป่าเพื่อผู้อยู่อาศัย ป่าแอดเวนเจอร์และศูนย์รวมกิจกรรม และพาวิลเลียนสไตล์ธรรมชาติ ซึ่งผืนป่านี้จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการทั้งหมดเพื่อเปิดให้ชุมชนและบุคคลภายนอกสามารถเข้ามาพักผ่อนได้

  2. Connecting 4 Generations การออกแบบพื้นที่ให้ใช้ชีวิตครอบคลุมถึง 4 เจเนอเรชั่นภายในพื้นที่ที่อยู่อาศัยเดียวกันในลักษณะรูปแบบที่อยู่อาศัยเฉพาะบุคคล แต่ยังสามารถไปมาหาสู่กันได้

  3. Community of Dreams พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ เช่น พื้นที่สำหรับกิจกรรมของครอบครัว พื้นที่เอาต์ดอร์ในการออกกำลังกายและกิจกรรมกลางแจ้ง สวนพักผ่อน และศึกษาธรรมชาติต้นไม้และสัตว์บนผืนป่าเปิด หรือตั้งแคมป์ เป็นต้น

  4. Sustainovation for Well-being นวัตกรรมความสุขแบบยั่งยืน เช่นการเลือกใช้วัสดุที่เอื้อต่อการประหยัดพลังงานหรือปลอดมลพิษ นวัตกรรมพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

http://bit.ly/2EsDFGn

2.    Mega City Bangna

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

 

ทำเล: ติดถนนบางนา-ตราด และวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก
มูลค่าการลงทุน: 67,000 ล้านบาท
พื้นที่: 400 ไร่ (150 ไร่สำหรับเฟสใหม่)
ผู้พัฒนา: บริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
แผนเปิดให้บริการ: 2565

หลังจากศูนย์การค้าที่ “เมกาบางนา” เปิดให้บริการในย่านบางนามากว่า 7 ปีแล้ว บนพื้นที่ 250 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด 400 ไร่ของบริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ขณะนี้ถึงเวลายกระดับศูนย์การค้าแห่งนี้ให้เป็น เมืองแห่งกรุงเทพตะวันออก “เมกาซิตี้” โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่เป็นประกอบไปด้วย ศูนย์การค้าเมกาบางนา โรงแรม อาคารสำนักงาน โรงเรียน สวนสาธารณะ ที่อยู่อาศัย และแหล่งบันเทิง เมืองขนาดใหญ่สำหรับการใช้ชีวิตแบบครบวงจร สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากถึง 250,000 คน นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือพัฒนาคอนโดมิเนียม 2 อาคาร จำนวน 1,300 ยูนิต กับบริษัท อารียาพรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

https://www.brandbuffet.in.th/2018/02/megabangna-transform-toward-megacity/

 

3.    Bangkok Mall

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

 

ทำเล: ติดถนนบางนา-ตราด (ตรงข้ามศูนย์ประชุมไบเทค บางนา)
มูลค่าการลงทุน: 20,000 ล้านบาท
พื้นที่: 100 ไร่ พื้นที่โครงการกว่า 800,000 ตารางเมตร
ผู้พัฒนา: บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด
แผนเปิดให้บริการ: 2565

แบงค็อก มอลล์ ศูนย์การค้าแบบ Regional Mall ที่ตั้งเป้าเป็นอาณาจักรศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้คอนเซ็ปต์ City within the City โดยภายในโครงการประกอบไปด้วยอาคารศูนย์การค้า สวนน้ำ สวนสนุกขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม อาคารที่อยู่อาศัยให้เช่า และออฟฟิศครบวงจร และในอนาคตจะมีสถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออก ภายในพื้นที่กว่า 100 ไร่ บนทำเลย่านบางนาตัดกับถนนสุขุมวิท ตรงข้ามศูนย์แสดงสินค้าไบเทค โดย บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัดทุ่มงบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA คาดว่าแล้วเสร็จปี 2565

ถือเป็นโครงการที่บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัดทุ่มงบลงทุนสูงที่สุดในทุก ๆ โครงการที่ผ่านมา โดยคาดว่าหลังปรับแบบโครงการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จะมีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 800,000 ตร.ม. ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า แบงค็อก อารีนา ฮอลล์ (จุคนได้ 16,000 ที่นั่ง) โรงภาพยนตร์ 15 โรง อาคารจอดรถที่รองรับการจอด 8,000 คัน รวมถึงสวนน้ำ และสวนสนุกสุดไฮเทค

https://www.thebangkokinsight.com/68320/

 

ปี 2566

1.    Dusit Central Park (ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค)
 

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

 

ทำเล: ติดถนนพระราม 4 (ใกล้ MRT สถานีสีลม)
มูลค่าการลงทุน: 36,700 ล้านบาท
พื้นที่: 23 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 400,000 ตรม.
ผู้พัฒนา: บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
แผนเปิดให้บริการ: 2566

เมื่อต้นปี 5 มกราคม 2562 โรงแรมดุสิตธานี ได้ปิดตำนานการให้บริการต่อเนื่องมา 49 ปีลงชั่วคราว เพื่อรีโนเวท และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา Dusit Central Park (ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค) ด้วยความร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) โดยก่อตั้ง บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ขึ้นมา (ดุสิตธานี ถือหุ้น 60% และ CPN ถือหุ้น 40%) เพื่อพัฒนา “Dusit Central Park” (ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค) โครงการมิกซ์ยูสมูลค่า 36,700 ล้านบาท ในพื้นที่ 23 ไร่ บนทำเลทองจุดตัวระหว่างถนนพระราม 4 กับ ถนนสีลม คาดว่าภายในปี 2565 จะเปิดให้ให้บริการโรงแรมก่อน หลังจากนี้เปิดตัวโซนพักอาศัย และจะเปิดให้บริการครบทุกโครงการภายในปี 2566 ภายในโครงการประกอบไปด้วย

  • โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ สูง 39 ชั้น จำนวนห้องพัก 250 ห้อง คอนเซ็ปต์เดิมเน้นเรื่องความเป็นไทย โดยมี ยอดชฎาสีทอง สัญลักษณ์เดิมของโรงแรม ออกแบบใหม่ไว้บนดาดฟ้า

  • ที่พักอาศัย แบ่งเป็น 2 แบรนด์ ได้แก่ Dusit Residences ที่เป็นห้องชุด 2-4 ห้องนอนและเพนท์เฮ้าส์ พื้นที่ 120-600 ตรม. จำนวน 159 ยูนิต (ชั้น 30-69) Dusit Parkside ห้องชุด 1-2 ห้องนอนขนาด 60-80 ตรม. จำนวน 230 ยูนิต อยู่ชั้นที่ 9-29 (คาดว่ามูลค่าราคาขายรวม 16,000-17,000 ล้านบาท) มีสัดส่วนที่จอดรถมากกว่า 100% ลักษณะการซื้อขายเป็นแบบ leasehold หรือ เช่าระยะยาว 60 ปี (ตามกฏหมาย กำหนดระยะเวลาเช่าระยะยาวสูงสุด30 ปี ดังนั้น Dusit Central Park จะให้ลูกค้าทำ 2 สัญญาในครั้งเดียวยาว 60 ปี) ทำให้ราคาไม่สูงเกินไป และสะดวกต่อการขายให้ชาวต่างชาติ

  • ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค พื้นที่ 80,000 ตรม.

  • สำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ตึกสูง 43 ชั้น พื้นที่รวม 90,000 ตรม.

https://brandinside.asia/new-dusitthani-mixed-use-at-silom/

 

ปี 2567

1.    ท่าอากาศยานอู่ตะเภา

รูปบทความ : เช็คไทม์ไลน์และงบลงทุน Mega Projects ทั่วกรุง!

 

ทำเล: ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาก จังหวัดระยอง
มูลค่าการลงทุน: 2.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐ 17,768 ล้านบาท
พื้นที่: 6.5 พันไร่
ผู้พัฒนา: ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public private partnership: PPP)
แผนเปิดให้บริการ: 2567

โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นโครงการที่จะต่อขยายไปสู่มหานครการบินภาคตะวันออก โดยในปัจจุบัน มีความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาภายในพื้นที่ 6.5 พันไร่ ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วยมูลค่าลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท บาท แบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐ 17,768 ล้านบาท และเอกชนอีก 2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 จะเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2567 ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณปีละ 3 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 12 ล้านคนในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคนภายในปี 2578

.

ในการต่อยอดไปสู่มหานครการบินภาคตะวันออก โครงการมีแผนจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินให้เป็นเมืองการบิน เพื่อรองรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน และ10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งการท่องเที่ยวใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น โดยแนวทางการขยายตัวจะแบ่งออกเป็น 2 แนว ได้แก่ แนวที่ 1 ขยายการท่องเที่ยวและเมืองทันสมัยน่าอยู่ ในเส้นทาง สนามบินอู่ตะเภา – สัตหีบ บางสะเหร่ จอมเทียน พัทยา ศรีราชา และเส้นทางสนามบินอู่ตะเภา บ้านฉาง มาบตาพุด ระยอง และเกาะเสม็ด แนวที่ 2 ขยายธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย และบริการ ในเส้นทาง สนามบินอู่ตะเภา ตามถนน 331 ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงศรีราชา บ้านบึง และเส้นทางสนามบิน – นิคมอุตสากรรมมาบตาพุด ถนน 3191 และถนน 36 โดยระยะเวลาการพัฒนาเมือง ภายใน 5 ปีแรก จะพัฒนาเมืองในเขต 10 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่สัตหีบ บ้านฉาง บางสะเหร่ และจอมเทียน ภายใน 5-10 ปี จะพัฒนาเมืองในเขต 30 กอโลเมตรโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่เมืองพัทยา ถึงเมืองระยอง ซึ่งจะรวมเป็นเขตพัฒนาเดียวกัน และภายใน 10-15 ปี จะพัฒนาเมืองรอบสนามบินอู่ตะเภา 60 กิโลเมตร
https://www.prachachat.net/property/news-268864

ในอีก 6 ปีข้างหน้าจะมีเมกะโปรเจกต์เข้าคิวกันรอเปิดอย่างคึกคัก TOOKTEE เองก็กำลังรอลุ้นว่าโครงการยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไลฟ์สไตล์ และการลงทุนให้กับประเทศไทยได้มากขนาดไหน เพื่อน ๆ ที่มีบ้านอยู่ใกล้เมะกะโปรเจคคงตื่นเต้นไม่แพ้กัน ที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และที่ดินรอบ ๆ มีแนวโน้มจะเติบโตรับเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ ถ้าหากใครกำลังมองหาซื้อ ขาย เช่าอสังหาริมทรัพย์ล่ะก็ ขอแนะนำให้เข้ามาเช็คกับ TOOKTEE เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล ดีลด้านอสังหาริมทรัพย์มาให้คุณอย่างจุใจ รอติดตามกันได้นะครับ

เว็บไซต์อ้างอิง :

#Mega Projects #เมกะโปรเจค #การลงทุน #Central Village #สุวรรณภูมิ เฟส 2

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

รายการ