ชงรัฐขยายเพดานลดค่าโอน-จำนอง อสังหาฯ 3-7 ล้านบาท-มือสองฟื้นตลาด


19 / 02 / 2021

มาตรการการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ในกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ตลาดไม่ถูกกระตุ้นในทุกๆ เซกเมนต์ โดยเฉพาะกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท และ 5-7 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

แม้ว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 2% เป็น 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองที่อยู่อาศัยจากเดิม 1% เป็น 0.01% ของมูลค่าจดจำนอง เฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ทว่ากลุ่มที่มีกำลังซื้อคอนโดและบ้านอยู่ในเซกเมนต์ระดับราคาตั้งแต่ 3-7 ล้านบาทยังเป็นกำลังซื้อที่น่าสนใจและสามารถครอบคลุมตลาดได้ถึง 80%

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 2564 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 1-2% หลังจากเกิดโควิดรอบ 2 จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จะดีขึ้น ขณะที่มาตรการการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ในกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ตลาดไม่ถูกกระตุ้นในทุกๆ เซกเมนต์ โดยเฉพาะกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท และ 5-7 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ แต่ไม่มีมาตรการกระตุ้น ทำให้เกิดการชะลอการซื้อ จึงอยากขอให้รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นคนมีเงินแต่ยังลังเลที่จะซื้อให้เร่งการตัดสินใจซื้อ รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการซื้อบ้านมือสองให้มีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกค้าไม่เกิน 3 ล้านบาท มีข้อจำกัดในเรื่องของการของสินเชื่อจากสถาบันการเงินค่อนข้างมาก

“จากตัวเลขยอดการโอนกรรมสิทธิ์หรือการซื้อขายคอนโดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่การขยายตัวในปี 2563 สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากมาตรการรัฐ แต่หากครอบคลุมกลุ่ม ราคา 3-5 ล้านบาท และ ราคา 5-7 ล้านบาทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ จะทำให้ครอบคลุม80% ของตลาด”

ส่วนภาพรวมไตรมาสแรกปีนี้ หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศลดลง 10.6% คาดว่าภาพรวมปีนี้จะลดลง 1.5% หรือประมาณ 353,236 หน่วย โดยแนวราบลดลง 0.1% อาคารชุด (คอนโด) ลดลง 4.2% ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ไตรมาสแรกลดลง 7.2% คาดทั้งปีลดลง5.6% หรือประมาณ 876,121 ล้านบาท โดยแนวราบลดลง 7.7% อาคารชุดลดลง 1.4%

ขณะที่หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดคนต่างด้าวทั่วประเทศปี 2563 มี 8,258 หน่วย ลดลงจากปี 2562 ถึง 35.3% และมีสัดส่วนต่อภาพรวมลดลงเหลือแค่ 6.8% จากเดิมเคยอยู่ที่ 10% ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดของคนต่างด้าวทั่วประเทศปี 2563 มีมูลค่า 37,716ล้านบาท ลดลง 25.5% และมีสัดส่วนลดลงเหลือ 12.1% จากเดิม 16% เนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติไม่สามารถเข้ามาซื้ออสังหาฯ ได้ จึงไม่สามารถคาดหวังยอดขายหรือรายได้จากชาวต่างชาติได้จนกว่าจะมีการเปิดประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องพึ่งลูกค้าในประเทศเป็นหลัก

 

สำหรับหน่วยที่อยู่อาศัยที่เปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 32.7% หรือประมาณ 82,594 หน่วย ขณะที่ปี 2563 มี 62,227หน่วย ต่ำสุดในรอบ10 ปี และสินค้าในสต็อกเริ่มลดลง คาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ จะเปิดตัวเพิ่มขึ้นและจะมีสัดส่วนมากกว่าบ้านแนวราบอีกครั้ง หลังจากที่ปี 2563 สัดส่วนการเปิดตัวใหม่ของบ้านจัดสรรมากกว่าอาคารชุด เท่ากับ 57:43 โดยบ้านจัดสรรจะมีเปิดตัวประมาณ 43,732 หน่วยเพิ่มขึ้น 22.5% ขณะที่อาคารชุดจะมีการเปิดตัวประมาณ 38,862 หน่วยเพิ่มขึ้น 46.5%

ขณะที่มูลค่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปีนี้คาดมีมูลค่าประมาณ595,141 ล้านบาท ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 อีก 2.8% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มลดลง 5.6%

ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด -19 รอบ 2 รวมถึงเศรษฐกิจอาจไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ดีเท่าที่ควร จากปัจจัยลบ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ปัญหาการขาดแคลนแรงงานการกลับมาของนักท่องเที่ยว ความล่าช้าหรือความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีน เป็นต้น

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923154

#

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ