จุฬาฯ กํา 6 พันล้านลงทุน บูมสามย่าน-สวนหลวง

แลนด์ลอร์ดในซีบีดี สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เปิดแผน 20 ปี สร้างเมืองจุฬาฯอัจฉริยะใจกลางเมือง รุกพัฒนาย่านสามย่าน-สวนหลวง 291 ไร่ ทุ่มลงทุนกว่า 6,200 ล้านบาท รับรถไฟฟ้า MRT เดินรถทะลุถึงฝั่งธนบุรี

ปัจจุบันพื้นที่ย่านถนนพระราม 4 เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ นับจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินหรือ MRT ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงเปิดบริการ ล่าสุดส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา เชื่อมการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรี ดึงดูดกลุ่มทุนใหญ่จากธุรกิจเครื่องดื่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ปักหมุดโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บนพระราม 4 ตั้งแต่แยกสามย่าน จนถึงแยกคลองเตย รวม 4 โครงการ ตามด้วยโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ๆ

สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งครอบครองที่ดินจากถนนพระราม 1 จดถนนพระราม 4 รวมกว่า 1 พันไร่ ถือเป็นทำเลศักยภาพที่เอกชนหลายรายให้ความสนใจ ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่โซนสามย่าน-สวนหลวง จากตึกแถวเก่าให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ให้ประชาชนในพื้นที่และชาวจุฬาฯ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงเป็นแหล่งการเรียนรู้ โดยแผนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2561-2580 (2018-2037)

รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล กล่าวว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน จัดการทรัพย์สินจุฬาฯ วางแผนสร้างเมืองใจกลางเมือง บนพื้นที่ย่านสามย่าน-สวนหลวง พื้นที่ทั้งหมด 291 ไร่ และหลังจากโครงการสามย่านมิตรทาวน์ เปิดบริการ ช่วยเติมเต็มให้พื้นที่โซนสามย่าน-สวนหลวงเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้น จากจุดนี้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่บล็อกที่ 28 บริเวณจุฬาฯซอย 9 ติดสถานีดับเพลิง พื้นที่ 8 ไร่ สร้างสรรค์โครงการครีเอทีฟ แอนด์ สตาร์ตอัพ วิลเลจ รองรับความต้องการลูกค้ากลุ่มสตาร์ตอัพ เน้นกลุ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรม รวมถึงกลุ่มที่มีศักยภาพจ่ายค่าเช่าพื้นที่ รูปแบบเป็นอาคารสูง 3 ชั้น 5 อาคาร พื้นที่โครงการประมาณ 1.6 หมื่นตารางเมตร ชั้นล่างเป็นพื้นที่รีเทล ชั้น 2-3 เป็นพื้นที่สำนักงาน คาดสร้างเสร็จและเปิดเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ขณะนี้มีสตาร์ตอัพสนใจเช่าพื้นที่ 70%

อีกหนึ่งพื้นที่ที่เร่งดำเนินการ บล็อก 33 ใกล้ตลาดสามย่าน ในจุฬาฯซอย 9 เช่นกัน สร้างโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัย 2 อาคาร แบ่งเป็น คอนโดมิเนียมสูง 41 ชั้น จำนวน 831 ยูนิต และหอพักนิสิตสูง 34 ชั้น จำนวน 972 ยูนิต และอาคารเชิงพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น ซึ่งจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าลงทุน สำหรับโครงการบล็อค 33 นี้ มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เตรียมยื่นรายงานอีไอเอ เดือนพฤศจิกายนนี้ คาดโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปลายปี 2565

“ในส่วนคอนโดมิเนียม วางคอนเซ็ปต์เป็นที่พักอาศัยในเมืองที่คนทำงานรายได้ 3 หมื่นบาทสามารถเข้าถึงได้”

https://medias.thansettakij.com/images/2019/10/09/1570607732_1.jpg
 

นอกจากนี้ยังเตรียมพื้นที่บล็อค 34 ด้านถนนบรรทัดทอง พื้นที่ 12 ไร่ พัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพ ที่ผ่านมาได้เชิญกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ เนื่องจากในพื้นที่สามย่าน-สวนหลวง ไม่มีโรงพยาบาล ขณะที่มีชุมชนอยู่อาศัยค่อนข้างมาก โครการนี้จะนำเสนอสภามหาวิทยาลัยและเปิดทีโออาร์ ในต้นปี 2563

รศ.ดร.วิศณุ ยังกล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์ว่า ล่าสุดโครงการสยามสเคป อาคารมิกซ์ยูส ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์การค้า เอ็มบีเค มูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านบาท จะสร้างเสร็จในปี 2563 ประกอบด้วยโรงเรียนกวดวิชา ร้านค้า และพื้นที่สำนักงานด้านบน นอกจากนี้ในต้นปี 2563 จะเดินหน้าโครงการสยามกิตติ์ ในส่วนของโรงแรม หลังจากส่วนแรกสร้างเสร็จเมื่อ 7 ปี และเปิดให้โรงเรียนกวดวิชาเช่าในปัจจุบัน

“จากนี้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯจะเดินหน้าโครงการตามแผน พร้อมเข็นโครงการใหม่ๆ ออกมาอีกมากโดยเฉพาะย่านถนนพระราม 1 หลังประกาศพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ ที่คุมเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้นทำให้การดำเนินงานของเรามีความคล่องตัวมากขึ้น”

“ในปีหน้าจะหาพันธมิตรที่มีแนวคิดและความต้องการจะสร้างสรรค์โครงการที่ดี ตามคอนเซ็ปต์การสร้างเมืองอัจฉริยะ เพื่อคนที่อยู่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้วย” รศ.ดร.วิศณุยํ้า

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.thansettakij.com/content/411652

#จุฬาฯ #สามย่าน-สวนหลวง #พระราม 4 #รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ