TOD, EECi, EECd คืออะไร??? กับศัพท์เทคนิคที่ใช้ในพื้นที่อีอีซี


17 / 11 / 2019

หลายท่านคงจะเคยได้อ่านข่าวการพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือ อีอีซี (EEC) และพบตัวอักษรย่อต่าง ๆ มากมายทั้ง TOD, EECi, EECd ที่เป็นศัพท์เฉพาะในการอธิบายในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมาพร้อมกับคำอธิบายที่เข้าใจได้อย่างยากลำบาก โดยในวันนี้ทีมงาน Tooktee.com จึงได้ทำบทความสรุปศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการอธิบายพื้นที่อีอีซี พร้อมทั้งแสดงตำแหน่งทีตั้งที่จะพัฒนาในแผนของอีอีซี (EEC) อ้างอิงตามคำศัพท์เหล่านั้นให้ท่านได้มีความเข้าในการพัฒนาของพื้นที่อีอีซี (EEC)  อย่างชัดเจน โดยมีรายละเอียดตามหัวข้อ ดังนี้

อธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ

เรามาดูศัพท์คำแรกที่ใช้กันบ่อยในข่าวอีอีซี กันเลย

1. TOD : การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development)

TOD เป็นแนวคิดการพัฒนาศูนย์กลางที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม บริเวณสถานีขนส่งมวลชน (transit station) หรือโดยรอบเส้นทางระบบขนส่งมวลชน (transit corridor) โดยเน้นการออกแบบการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ 

ภาพแนวคิดและตัวอย่างการพัฒนาตามแนวคิดของ TOD

ที่มา http://www.otp.go.th            

หรือจะกล่าวคือแนวคิด TOD จะเน้นการพัฒนาชุมชนบริเวณโดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Mass Transit) ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน ภายในรัศมี 400-800 เมตร การออกแบบพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพจะลดการเดินทางโดยใช้เครื่องยนต์ และเน้นการเดินทางโดยเท้า หรือจักรยานแทนที่ ซึ่งจากแผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี จะมีจุดที่เป็น TOD นี่ ตัวอย่างได้แก่ พื้นที่พัทยา  ซึ่งจากแนวทางของ สนข. การคมนาคมภายในเมืองพัทยาจะถูกร้อยเรียงเป็นระบบตั้งแต่รถไฟความเร็วสูงรถขนส่งรับช่วงจากสถานีรถไฟรางเบา ตลอดจนที่จอดรถยนต์ จักรยานยนต์ และเส้นทางพิเศษสำหรับจักรยาน มีการจัดแบ่งประเภทพื้นที่ใหม่ให้เหมาะสม เช่น การจัดพื้นที่ริมหาดพัทยาให้ปลอดมลภาวะปราศจากรถยนต์ เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคุณภาพสูงต่อไป

ที่มา: https://www.salika.co/2019/04/05/tod-project-neo-pattaya-eec/            

2. EECi : เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation)

EECi เป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมไปถึงส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น 

จากแผนการพัฒนาพื้นที่ EECi ปัจจุบันอยู่ในบริเวณ 2 แห่ง คือ 

1) วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง ขนาดพื้นที่ 3,000 ไร่ 

2) บริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขนาดพื้นที่ 120 ไร่ 

เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม

รูปแบบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ EECi ทั้ง 2 แห่ง (วังจันทร์วัลเล่ย์ และอุทยานรังสรรค์ฯ)

3. EECd : เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) 

EECd เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เน้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve Digital Industry) อีกทั้งยังเป็นศูนย์สร้างธุรกิจดิจิทัลใหม่ ๆ ที่เป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0

ตั้งอยู่ที่บริเวณ Digital Park Thailand อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ 709 ไร่ เพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลรองรับการเป็นศูนย์กลางข้อมูล (Data Hub) ของอาเซียน

รูปแบบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ EECd

ที่มา https://www.eeco.or.th            

สรุปสั้น ๆ เข้าใจง่าย (สำหรับผู้ที่ขี้เกียจอ่าน)

จากที่สรุปมาหรือจะให้สรุปสั้น ๆ คือ แนวคิด TOD, EECi และ EECd นี้เป็น แนวคิดการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่สอดคล้องกับที่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ดังนี้

แนวคิด                                                        วัตถุประสงค์           

TOD (Transit-Oriented Development)      →  พัฒนาพื้นที่รอบระบบขนส่งมวลชน   

EECi (EEC + Innovation)                          →  พัฒนานวัตกรรม ให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

EECd (EEC + Digital Park)                      →  พัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้า และการลงทุนด้าน

                                                              อุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล

โดยแนวคิดของ TOD จะมีความแตกต่าง จาก EECi และ EECd คือ TOD จะเน้นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ

สถานี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม ที่มีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างหนาแน่นเชื่อมต่อกันให้คนเข้าใช้พื้นที่โดยสถานีขนส่งมวลชนเป็นหลัก (หากขับรถไปก็รถติด หาที่จอดรถยาก นั่งรถไฟฟ้าไปง่ายกว่า) โดยนำด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก นั่นคือ “สถานีรถไฟฟ้า” ก่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

และในส่วนของ EECi และ EECd จะ นำด้วยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดพื้นที่เพื่อประโยชน์จากการอยู่รวมกัน (agglomeration economics) ตามแนวคิดทางด้านผังเมือง การดำเนินกิจการไปแนวทางเดียวกันในพื้นที่เดียวกัน ทำให้เกิดการประหยัดด้านเวลาในการเดินทางภายใน รวมไปถึงการสร้างแรงดึงดูดให้เกิดการติดต่อประสานงานกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากภายนอกได้ ยกตัวอย่างเช่น หากจะซื้อเครื่องอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าซักชิ้น ท่านอาจจะนึกถึงชื่อของ “บ้านหม้อ” มากกว่าร้านค้าขายปลีกทั่วไป เนื่องจากบ้านหม้อเป็นแหล่งรวมร้านค้าอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ครบ และไม่ทำให้ท่านผิดหวังแน่นอนจากการที่มีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากมายและราคาที่ถูกต่อรองได้ แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดของพื้นที่อีอีซีนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นประโยชน์จากการอยู่ร่วมกันที่เน้นในเชิงอุตสาหกรรม มากกว่าเชิงที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรม 

ซึ่งเมื่อพิจารณารูปแบบการพัฒนาในพื้นที่ EEC จะพบว่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการเติบโตพัฒนาในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้วางแผนไว้ ดังภาพด้านล่าง

ศูนย์กลางการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง (EEC) และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยรอบ

 ที่มา https://www.eeco.or.th                    

ตำแหน่งที่ตั้ง

จากที่ได้กล่าวไปในบทความ TOD, EECi, EECd คืออะไร??? กับศัพท์เทคนิคที่ใช้ในพื้นที่อีอีซี นี้ ทางทีมงาน Tooktee.com ก็ได้สรุปตำแหน่งที่ตั้งไว้ในแผนที่ด้านล่าง ซึ่งบางพื้นที่ยังเป็นแผนพัฒนา (ยังไม่มีความชัดเจน) เพื่อให้ผู้ที่สนใจและติดตามการเติบโตในพื้นที่อีอีซีนี้ ต่อไป

 

โดยหากใครชื่นชอบและสนใจอ่านบทความเกี่ยวกับพื้นที่อีอีซีนี้ ก็สามารถกดติดตาม เว็บไซต์ Tooktee.com หรือ Facebook ได้เลยครับ

อ้างอิง

https://www.eeco.or.th
https://www.eeco.or.th/การจัดตั้งเขตส่งเสริม/EECd-EECi
https://www.salika.co/2019/04/05/tod-project-neo-pattaya-eec/

เว็บไซต์อ้างอิง :

#TOD #EECi #EECd #อีอีซี

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ