ซี.พี.ฉลุยดีลควบรวมเทสโก้ โลตัส 2 เจ้าสัวรุกคุมค้าปลีกเบ็ดเสร็จ


06 / 11 / 2020

“เจ้าสัวธนินท์” ผงาดเบอร์ 1 ค้าปลีกเมืองไทย บอร์ดแข่งขันการค้าไฟเขียว ดีล 3.38 แสนล้าน “ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง” ควบรวม “เทสโก้ โลตัส” คว้าช่องทางขายกว่า 2 พันสาขามาครองสำเร็จ  หนุนเครือข่ายอาณาจักรค้าปลีกซีพี “เซเว่นฯ-แม็คโคร-ซีพี เฟรชมาร์ท” ตัวเลขทะลุ 14,000 สาขาทั่วประเทศ ดึง “มืออาชีพ” แท็กทีมต่อยอดธุรกิจ กลุ่มซัพพลายเออร์ระทึกหวั่นอำนาจต่อรองเหนือตลาด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การพิจารณาการควบรวมกิจการ กรณีกลุ่มบริษัท ซี.พี. ในนาม บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (ถือหุ้นโดย ซีพี ออลล์ 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส
(ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท ช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา พิจารณาได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว โดยอนุมัติให้ควบรวมกิจการได้แบบมีเงื่อนไข

สาเหตุที่ กขค.หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นพิจารณา เนื่องจากเข้าข่ายการรวมธุรกิจภายใต้ “พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ปี 2560” เข้าเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด คือ มีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมากกว่า 1,000 ล้านบาท ผู้ทำการซื้อขายจึงได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ กขค. พิจารณาอนุมัติว่าจะให้มีการควบรวมหรือไม่ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ครบกำหนด 90 วัน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2563 แต่ กขค.สามารถต่อเวลาพิจารณาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 105 วัน

ใช้โมเดลควบรวมบิ๊กซี-คาร์ฟูร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอนุมัติให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไขครั้งนี้ เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งที่มีการให้ควบรวมธุรกิจค้าปลีกบิ๊กซี-คาร์ฟูร์ ซึ่งตอนนั้นเอาเงื่อนไขแต่ละรายมาพิจารณา และให้ไปเจรจากับซัพพลายเออร์ ให้เป็นหลักประกันว่าจะไม่ทำข้อตกลง หรือดำเนินธุรกิจในลักษณะเป็นการเอาเปรียบซัพพลายเออร์ ขณะเดียวกัน ต้องมีเงื่อนไขในการทำธุรกิจร่วมกันโดยให้ซัพพลายเออร์ได้ประโยชน์สูงสุด

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธาน กขค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กขค.พิจารณาเรื่องนี้ได้ข้อยุติแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ย. หลังจากนี้ มอบให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยต่อผู้ร้อง จากนั้นจะเปิดเผยคำวินิจฉัยต่อสาธารณชนต่อไป

 

ซีพีเอฟเตรียมเงิน 4 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากซีพีเอฟเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ซีพีเอฟได้ร่วมเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ด้วย โดยถือหุ้นสัดส่วน 20% หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ระหว่างที่ยื่นทำดีลได้เตรียมวิธีการชำระเงินซื้อขาย โดยจะใช้การกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ โดยสัญญาการกู้จะมีสถานะ pending อยู่จนกว่าบอร์ด กขค.จะพิจารณาอนุมัติให้ควบรวมกิจการ ในส่วนแต่ละบริษัทก็จะแยกกัน แต่ละรายก็เตรียมเงินของตัวเอง

“การพิจารณาเรื่องนี้ที่ล่าช้าเกินกว่า 90 วัน ไม่ส่งผลกระทบดีลซื้อขาย หากเทียบกับตอนที่ซีพีเอฟซื้อธุรกิจหมูที่แคนาดายากกว่านี้ เพราะต้องยื่นขออนุญาตถึง 7-8 ประเทศที่มีการส่งออก กรณนี้เราถือหุ้นน้อย แต่ได้ทำแผน funding เสร็จตั้งแต่ตอนที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสถานะการทำดีลกู้ถูก pending ไว้รอคณะกรรมการอนุมัติ สมมุติไทยพิจารณาไม่ให้ควบรวม สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ และทางมาเลเซียก็คงจะไม่แยกส่วนขายเฉพาะของมาเลเซียได้ เพราะตกลงกันเรียบร้อยแล้ว”

ชี้เงื่อนไขควบรวมควรใช้เวลา 1-2 ปี

ประเด็นเรื่องโครงสร้างการแข่งขันในตลาดค้าปลีกนั้น จริง ๆ แล้วธุรกิจค้าปลีกมีหลายแบรนด์ อาทิ ขนาดใหญ่ จะมีซีพี ไทยเบฟ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ขนาดกลาง มีค่ายญี่ปุ่น คือ แม็กแวลู วิลล่า ส่วนขนาดเล็กมีจำนวนรายเยอะมาก และยังมีผู้ประกอบการค้าปลีกในท้องถิ่นอีกไม่ต่ำกว่า 5-7 แสนร้านค้า ซึ่งหากเทียบสัดส่วนแล้วโมเดิร์นเทรดก็มีเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น

หวั่นอำนาจต่อรองล้นฟ้า

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ทางการอนุญาตให้ ซี.พี.ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสได้ สิ่งที่บรรดาซัพพลายเออร์กังวลหลัก ๆ จะเป็นในเรื่องของอำนาจการต่อรอง เนื่องจาก ซี.พี.นอกจากจะเป็นเจ้าของสินค้าหลาย ๆ อย่างแล้ว

อีกด้านหนึ่งก็ยังมีช่องทางจำหน่ายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขายสินค้าอีกหลายช่องทาง ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท และล่าสุดยังมีเทสโก้ โลตัส ซึ่งปัจจุบันมีสาขามากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะเท่ากับว่าค่ายซีพีมีอำนาจการต่อรองที่มากขึ้นอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายและทางการทำการตลาดใหม่ ด้วยการลดความแอ็กเกรสซีฟในการกิจกรรมทางการตลาดลง โดยหันมาเน้นในเรื่องของมาร์จิ้นมากขึ้น

ขณะที่ นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แต่ไหนแต่ไรธุรกิจค้าปลีกก็มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าซัพพลายเออร์มาตลอด ซัพพลายเออร์ต้องพึ่งพาผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีช่องทางจำหน่ายอยู่ในมือ

ส่วนระเบียบปฏิบัติที่จะออกมาดูแลมันไม่เวิร์กมานานแล้ว แม้รัฐจะกำหนดเงื่อนไขในการควบรวม แต่ในทางปฏิบัติ เราห่วงว่าจะบังคับใช้ได้อย่างไร เช่น เรื่องไกด์ไลน์ หรือกติกาอะไร หากบังคับใช้ช้าก็จะไม่ทันต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และเราไม่ได้ขายสินค้าให้เขาแค่ SKU เดียวมีหลาย ๆ SKU ที่เกี่ยวข้อง

“จะเห็นว่ายุคหลัง ๆ ผู้ผลิตข้าวถุงต่างก็หันมาลดสัดส่วนช่องทางการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดลง ปัจจุบันเหลือแค่ 30% ส่วนอีก 70% เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรด” 

แบรนด์แข็ง-ลุยต่อยอดธุรกิจ

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อเข้ากิจการของเทสโก โลตัส ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยส่วนตัวมองว่า ด้วยความที่เทสโก้ โลตัส ได้มีการวางระบบต่าง ๆ ไว้ค่อนข้างดี และมีความเป็นโปรเฟสชั่นนอลมาก เชื่อว่ากลุ่ม ซี.พี. (ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง) จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ค่อนข้างมากในแง่ของการนำศักยภาพต่าง ๆ ของเทสโก้ โลตัส ไปต่อยอดหรือนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในเครือ เพื่อปิดจุดบอดและพัฒนาธุรกิจนั้น ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุดการซื้อกิจการเทสโก้ฯครั้งนี้ยังจะทำให้ ซี.พี.จะได้ช่องทางค้าปลีกมาถึง 3-4 โมเดล คือ เทสโก้ โลตัส ที่เป็นโมเดลไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่เป็นค้าปลีกไซซ์ใหญ่และบางสาขาจะมีพื้นที่ให้เช่าเป็นจำนวนมากโมเดลที่เป็นร้านสะดวกซื้อหรือเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส รวมถึงเทสโก้ โลตัส ตลาด

นอกจากนี้ จากแบรนด์เทสโก้ โลตัส ที่มีความแข็งแกร่ง และสามารถเจาะตลาดได้ในวงกว้าง เชื่อว่ากลุ่ม ซี.พี.น่าจะนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า หรือมอลล์ ซึ่ง ซี.พี.ก็เคยทำมาแล้วในเมืองจีน”

2 เจ้าสัวคุมเบ็ดเสร็จ-ซุ่มทาบทามมืออาชีพร่วมบริหาร

อีกด้านหนึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวซึ่งจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกของ ซี.พี.มีเครือข่ายและจำนวนสาขาที่มากขึ้น ย่อมจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่น ๆ ที่มีจำนวนสาขารอง ๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่อยู่ใต้ร่ม บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือแม้กระทั่งซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อในเครือซีอาร์ซี (เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น) ของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่ม ซี.พี.ได้เริ่มทยอยเจรจาและทาบทามบุคลากรในวงการ รวมถึงมืออาชีพด้านธุรกิจจำนวนหนึ่งให้เข้ามาร่วมงาน และเตรียมงานต่าง ๆ เพื่อรองรับการรวมกิจการของเทสโก้ฯ หลังจากที่ทางการอนุญาตให้ควบรวมได้

“คนที่ ซี.พี.รีครูตหรือ โทร.ทาบทาม ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่สมัยที่ ซี.พี.ลงทุนสร้างโลตัสในเมืองไทยเมื่อในอดีต และไปทำงานหรือเป็นผู้บริหารอยู่หลาย ๆ ที่”

ซี.พี.มีสาขาค้าปลีกทะลุ 14,000 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัส เสร็จสิ้น จะทำให้ค่าย ซี.พี.ของเจ้าสัวธนินท์ เจียวรนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้นประมาณ 14,312 แห่งทั่วประเทศ

และล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของเทสโก้ โลตัส หรือบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ระบุว่า ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 144,897 ล้านบาท มีรายได้ 187,958 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารรายเล็กรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ด้วยจำนวนสาขาของธุรกิจค้าปลีกในเครือของ ซี.พี.ที่มากกว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศ จะถือเป็นข้อได้เปรียบของค่าย ซี.พี.ที่อีกด้านหนึ่งก็คือ ผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งอาหารสด (ไก่ หมู ปลา กุ้ง ไข่) อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน ผักผลไม้สด ที่จะสามารถเลือกและใช้ช่องทางต่าง ๆ ดังกล่าวในการกระจายสินค้าได้มากขึ้น

 

 

เว็บไซต์อ้างอิง : prachachat

#CP ซีพี

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ