ไทยเชื่อมขนส่งอาเซียน ทุ่ม 8.5 พันล.พัฒนาถนน 4 เส้นทางปี’63


24 / 12 / 2019

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์การมหาชน(สพพ.) เปิดเผยว่าในปี 2563 สพพ.มีแผนผลักดันสนับนสนุนการพัฒนาถนนเส้นทางเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเซียน (ASEAN Connectivity) ตามนโยบายของรัฐบาลที่และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(GMS) โดย สพพ.การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนารวมมูลค่า 8,500 ล้านบาท รวมทั้งหมด 4 เส้นทาง เชื่อมต่อ 3 ประเทศได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งแผนใน 5 ปีข้างหน้า จะเน้นสนับสนุนเงินทุนให้กับกัมพูชาและเมียนมาเนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจโตโดดเด่นและไม่มีภาระหนี้มากนัก

ทั้งนี้ในปี 2563 ได้มีแผนที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมท่าเรือ
น้ำลึกทวาย เส้นทาง กาญจนบุรี-ทวาย ระยะทาง 138 กม. วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันผลการศึกษาแล้วเสร็จ โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาตำบลพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และไปสิ้นสุดที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งทางรัฐบาลเมียนมาต้องการเส้นทางนี้เป็นอย่างมากเพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างไทยกับกลุ่มชาติ BIMSTEC ประกอบกับการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ได้มีการจ่ายเงินค่าเวนคืนพื้นที่จนเริ่มกลับมาก่อสร้างได้แล้วและที่จะเปิดใช้ในปี 2566 จึงส่งผลทำให้เส้นทางนี้มีศักยภาพในการลงทุนพัฒนา

นอกจากนี้ จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5
(ช่วงจังหวัดบึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ) เป็นการสนับสนุนเงินทุนก่อสร้างในฝั่งสปป.ลาว วงเงิน 1,300 ล้านบาท ที่ประชุมครม. เตรียมอนุมัติเงินกู้เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ไปพร้อมกับฝั่งไทย

ส่วนในปีหน้ายังเตรียมที่จะเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติ เงินทุนสนับสนุนราว 1,200 ล้านบาท ในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมไทย-กัมพูชา ช่วงถนนหมายเลข 67 (NR67) เสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงาราชอาณาจักรกัมพูชา ระยะทาง 131 กม. ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ทั้งนี้การสนับสนุนเงินทุนในทุกโครงการมีดอกเบี้ยอยู่ที่เพียง0.1% เป็นการส่งเสริมโอกาสให้ประเทศในกลุ่ม GMS พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคนอกจากนี้ ยังเตรียมลงนามสัญญาเงินทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเส้นทางถนนหมายเลข 12 (R12) นครพนม ไทย–ท่าแขก/นาเพ้า สปป.ลาว–จาลอ/ฮานอย เวียดนาม ระยะทาง 147 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังติดเงื่อนไขในการลงนามสัญญาคือข้อกำหนดให้ต้องให้ถนนเส้นนี้เป็นการขนส่งข้ามพรมแดนตามอนุสัญญา (CBTA) เพื่อให้รถขนส่งสินค้าวิ่งเชื่อม 3 ประเทศไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม ขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้

สำหรับ สพพ.เป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกของรัฐบาลไทยในการดำเนินนโยบายร่วมพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรหรือหน่วยงาน ภายในและต่างประเทศในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.naewna.com/business/461867

#พัฒนาเศรษฐกิจ #คมนาคมขนส่ง #อาเซียน

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ