อสังหาฯจี้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ย 1-2% ตัวช่วยลดหนี้ผู้บริโภค-กู้เศรษฐกิจชำรุด


17 / 01 / 2024

แนวโน้มธุรกิจปี 2567 ยังคงเผชิญปัจจัยลบจากปัญหาดอกเบี้ยแพง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมทั้งทำให้ภาระหนี้ของประชาชนหรือลูกหนี้สินเชื่อ มีภาระผ่อนจ่ายต่องวดในระดับสูง โดยเฉพาะภาระการผ่อนจ่ายค่างวดเงินกู้ซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียม จึงมีข้อเรียกร้องให้แบงก์ชาติออกมาตรการลดภาระดอกเบี้ยลง

ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ วันที่ 7 มกราคม 2567 นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการทำธุรกิจในปี 2567 ยังเป็นปีที่ไม่สดใส เนื่องจากมีปัจจัยลบรอบด้าน โดยปัญหาหนักที่สุดเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนในระดับสูง มีสัดส่วน 91% ต่อจีดีพี

พีระพงศ์ จรูญเอก
 

จุดโฟกัสสำหรับธุรกิจที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต พบว่ามีดีมานด์ในการซื้ออยู่ตลอดเวลา แต่ถูกจำกัดด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ ทำให้ถึงแม้จะมีดีมานด์ซื้อ คนอยากได้บ้านหรือคอนโดฯ แต่ซื้อไม่ได้

“หนี้ครัวเรือนระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่ออย่างเข้มงวด ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 ทั้งปีที่ผ่านมา ทำให้ภาระหนี้จ่ายค่างวดต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เรื่องหนี้ที่รัฐบาลและแบงก์ชาติจะช่วยได้ วิธีการต้องไปบริหารจัดการให้อัตราดอกเบี้ยลดลงมา”

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้เป็นปัจจัยกดดันลูกหนี้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ผู้ประกอบการ ธุรกิจเอสเอ็มอี ลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยหรือประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในภาคการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ เพราะมองว่าดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มันเกินเลเวลหรือเกินระดับที่ทำธุรกิจแล้วจะแข่งขันได้

“ถ้าถามผม ก็อยากเห็นหนี้ครัวเรือนกลับไปอยู่ระดับ 80% กลาง ๆ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจ รวมทั้งภาระการจ่ายค่างวดสินเชื่อกลับมาเฮลตี้ หรือกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง”

“ผมยืนยันว่าดอกเบี้ยในตอนนี้มันไม่เฮลตี้กับการใช้ชีวิตของคนไทย นักธุรกิจ หรือเอสเอ็มอีเลย แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ มันเกินเลยเลเวลที่จะแข่งขันได้ อาจจะวิงวอนไปถึงแบงก์ชาติว่าเราจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยขนาดนี้เลยเหรอครับ”

สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายพีระพงศ์กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลออกมาตรการมาดูแลภาคอสังหาฯ หรือภาคการท่องเที่ยว เพราะมีผลต่อการเพิ่มสัดส่วนจีดีพีประเทศ เช่น มีมาตรการกระตุ้นการซื้อที่อยู่อาศัยทั้งลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติ ในการซื้อบ้านหลังที่ 1-2-3

กรณีลูกค้าต่างชาติถ้าหากรัฐบาลกระตุ้นให้ซื้ออสังหาฯ ในเมืองไทยมากเท่าไหร่ ย่อมเท่ากับเป็นการเพิ่มจีดีพีใหม่ ที่สร้างเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ภาคธุรกิจอสังหาฯ จึงเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ออกจากภาวะวิกฤต ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีการใช้เป็นมาตรการกระตุ้นภาครัฐเสมอมา

อีกราย ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) อดีตนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มปี 2567 ภาวะเศรษฐกิจยังมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อภาคประชาชนตกต่ำลง รัฐบาลจึงต้องเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์

ข้อเสนอก็คือ รัฐบาลควรออกนโยบายบ้านหลังแรก (ที่อยู่อาศัยหลังแรกทั้งบ้านและคอนโดฯ) ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ทางกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ต้องสร้างแรงจูงใจในการซื้อ ด้วยการทำให้ภาระค่างวดผ่อนลดต่ำลง ซึ่งจะทำได้ต้องทำให้ดอกเบี้ยลดต่ำลง ค่างวดผ่อนก็จะต่ำลงโดยอัตโนมัติ

“ตอนนี้ดอกเบี้ยผ่อนบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4% รัฐบาลโดยคลังหรือแบงก์ชาติช่วยให้ลดลงมาสัก 1-2% จะทำให้ค่างวดผ่อนต่ำลง ทำให้คนมีความรู้สึกอยากซื้อมากขึ้น ตามแนวทางนี้เป็นการสนับสนุนด้านกำลังซื้อที่อยู่อาศัยโดยตรง” ดร.อาภากล่าว

สอดคล้องกับ นายกวีพันธุ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานกรรมการ เค.อี.กรุ๊ป แลนด์ลอร์ดและดีเวลอปเปอร์เจ้าถิ่นโซนเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยน่าหนักใจในการทำธุรกิจทั่วไปและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 เรื่องแรกสุดคืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นมาสูงตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา เฉลี่ยตอนนี้ผู้ประกอบการและผู้บริโภครับภาระอยู่ที่ 4%

ข้อเสนอคือต้องกดอัตราดอกเบี้ยลดลง 1-2% เพื่อปลดล็อกด้านกำลังซื้อให้สามารถซื้อง่ายขายคล่อง ซื้ออสังหาฯ แล้วต้องสามารถเข้าถึงสินเชื่อ สามารถผ่อนจ่ายค่างวดได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งมีผลทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียนได้โดยไม่ติดขัดอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนสถานการณ์โควิด

 

เว็บไซต์อ้างอิง : www.prachachat.net

#ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ #หนี้ครัวเรือน #แบงก์ชาติ

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ