สต๊อกบ้านกทม.-ปริมณฑล สะสมมาปี67 พุ่ง2.3แสนหน่วย


05 / 02 / 2024

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย คาดการณ์ทิศทางตลาดอสังหาฯไทยเติบโตลักษณะค่อยเป็นค่อยไป สต๊อกบ้านกทม.-ปริมณฑล สะสมมาปี67 ประมาณ 2.3แสนหน่วย ทั่วประเทศรวมบ้านมือสอง 1.5ล้านหน่วย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์  เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส  กล่าวในงานสัมมนาทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย 2567 ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีหน่วยขายเปิดใหม่ 101,536 หน่วย ซึ่งถึงแม้จะน้อยกว่าปี 2565 (จำนวน 107,090 หน่วย) ประมาณ 5.2% แต่เป็นการลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญใดๆ  ที่มีจำนวนลดลงเพราะแทบไม่มีการเปิดตัวโครงการอาคารชุดราคาถูก (ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท)

หากตัดจำนวนห้องชุดราคาถูกออกไปประมาณ 20,000 หน่วย จะเห็นได้ว่าจำนวนหน่วยขายในปี 2566 มีมากกว่าปี 2565 เป็นอย่างมาก โดยในปี 2562 ช่วงก่อนโควิดมีการเปิดตัวโครงการถึง 118,975 หน่วย และลดลงมาเหลือเพียง 73,043 หน่วย ในปี 2563 หรือลดลงถึง 38% ต่อมาในปี 2564 มีการเปิดตัวโครงการใหม่เพียง 60,489 หน่วย หรือลดลงเกือบครึ่งของปี 2562  อย่างไรก็ตามในปี 2565 และ 2566 เติบโตเป็นอย่างมาก

"หากตัดโครงการห้องชุดราคาถูกๆ ที่ระดมเปิดตัวในปี 2565 ออกไปราว 20,000 หน่วย จำนวนหน่วยขายที่เปิดตัวในปี 2565 จะเป็น 87,090 หน่วย แทนที่จะเป็น 107,090 หน่วย และในปี 2566 ก็เปิดใหม่เป็น 101,536 หน่วย ซึ่งก็พอๆ กับปี 2562"

แสดงว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังฟื้นตัว ไม่ได้กำลังหดตัวเช่นที่เข้าใจกัน และหากพิจารณาจากมูลค่าการเปิดตัวในปี 2566 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 559,743 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2561 ที่เปิดสูงสุดถึง 565,811 หน่วยแล้ว

นับว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้คาดว่าในปี 2567 ตลาดจะเติบโตมากกว่านี้ โดยจะเห็นได้ว่าการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทยจะเติบโตอยู่ที่ 3-4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็นับว่าเป็นการขยายตัวที่ดีพอสมควร โดยราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เปิดใหม่ในปี 2566 ทั้งปีอยู่ที่ 5.513 ล้านบาท ซึ่งต่างจากปี 2565 ที่เปิดตัวในราคาเฉลี่ยเพียง 4.412 ล้านบาท

แสดงว่าราคาเฉลี่ยของหน่วยขายเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 25% ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งคือโครงการห้องชุดราคาถูก (ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท) แทบไม่เปิดตัว  แต่บ้านที่มีราคาสูงกลับเปิดตัวกันมากขึ้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้มีรายได้น้อยมีฐานะทางเศรษฐกิจที่แย่ลงในขณะที่ผู้มีรายได้สูงอาจไม่ได้ผลกระทบไม่มากนักจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้า

ในขณะนี้ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังมีหน่วยรอขายในมือผู้ประกอบการประมาณ 233,433 หน่วย เพิ่มขึ้น 6.7% จากสิ้นปี 2565 ที่มีหน่วยรอขายอยู่ 218,846 หน่วย แสดงว่าการขายค่อนข้างช้า ทำให้หน่วยเหลือขายคงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ในแง่หนึ่งสะท้อนว่าตลาดที่อยู่อาศัยอาจกำลังเติบโตช้า ยอดการโอนอาจลดลง ผู้ซื้อบ้านมีกำลังซื้อน้อยลงโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้หากประมาณการหน่วยขายรอการขายในมือผู้ประกอบการทั่วประเทศ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยเชื่อว่ายังมีอยู่รวมกันประมาณ 400,000 หน่วย (รวมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว) และที่เป็นบ้านมือสองน่าจะมีอีกประมาณ 1,100,000 หน่วย รวมสินค้าที่อยู่อาศัยรอการขายทั้งหมดประมาณ 1,500,000 หน่วย แสดงว่าในประเทศไทยไม่ได้มีภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัยเช่นประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจนกว่าไทย 

ยิ่งกว่านั้นศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยยังเคยสำรวจพบว่าขณะนี้ยังมีบ้านว่างหรือบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีผู้อยู่อาศัยทั่วประเทศประมาณ  1,200,000 หน่วย โดยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 600,000 หน่วย นอกนั้นอยู่ในจังหวัดภูมิภาค ทั้งนี้หากเป็นในเกาหลีใต้มีบ้านว่างอยู่ถึง 1,500,00 หน่วย ในญี่ปุ่นมี 8,500,000 หน่วย และในจีนมีถึง 50,000,000 หน่วย

เว็บไซต์อ้างอิง : www.thansettakij.com

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ