ไม่เลื่อนอีกแล้ว! '3 รมต.' เรียงหน้าการันตี 25 ต.ค.เซ็นก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน


11 / 10 / 2019

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งมอบสาธารณูปโภค การสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ 8 หน่วยงาน

โดยนายอุตตม กล่าวย้ำว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผูกพันตามภาระกิจ ภายใต้กฎหมายอีอีซี เมื่อหารือร่วมกันแล้ว ปัญหาการส่งมอบที่ดิน ที่เอกชนระบุว่า มีความเสี่ยงจะคลี่คลายปัญหาได้ ยอมรับว่าการร่วมลงทุนแบบ PPP มีความซับซ้อนหลายหน่วยงาน แต่จะทำให้โครงการเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่อยากให้กังวลว่าโครงการลงทุนจะสิ้นสุดลง เพราะพื้นที่สัดส่วนร้อยละ 72  พร้อมส่งมอบให้ผู้ก่อสร้าง จึงทำให้โครงการเดินหน้าไปได้ในช่วงแรก

ขณะที่นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า  เมื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่งตั้งบอร์ด รฟท.ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จากนั้นจะเริ่มประชุมบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ 16 - 17 ต.ค. นี้ กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ที่ประชุม ครม.รับทราบการตั้งบอร์ด รฟท.ในวันที่ 23 ต.ค. 62 จากนั้น รฟท.และกลุ่มซีพี จะลงนามสัญญาก่อสร้างได้ตามกำหนด 25 ต.ค.นี้ โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอย่างแน่นอน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า การส่งมอบที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  โครงการลงทุนแบบ PPP ทั้งภาครัฐและเอกชน  ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันด้วยดี  ในส่วนภาครัฐ ถือเป็นผู้ร่วมทุนเช่นกัน  หากดำเนินการไม่สําเร็จ จะไม่ได้สร้างประโยชน์กับประเทศ  รวมทั้งอาจไม่เชื่อมโยงทันเวลากับการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา  ดังนั้นภาครัฐทุกหน่วยงานจึงร่วมมือกัน  เพื่อให้มีการลงนามสัญญาตามกำหนดในวันที่ 25 ต.ค.นี้  โดยไม่มีเจตนาทำให้เป็นอย่างอื่น

“ทั้งนายกรัฐมนตรี  รองนายกฯสมคิด  และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นกรรมการนโยบาย EEC เร่งรัดผลักดัน ให้มีการลงนามโดยเร็ว  ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุด เตือนว่า การส่งมอบที่ดินเป็นสาเหตุหลัก ทำให้เกิดปัญหาในความสำเร็จของโครงการ  ในส่วนของ  รฟท. ยอมรับว่า การส่งมอบที่ดิน  เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน  จึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย  ขณะที่ กลุ่มซีพีได้หารือนอกรอบมาตลอด ซึ่งกลุ่มซีพีต้องการร่วมลงนาม และชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่ภาคเอกชนกังวลมากที่สุด คือ  ส่งมอบที่ดินต้องมีความชัดเจน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญ นำไปใช้ระดมแหล่งเงินทุน และเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพราะไม่ชัดเจนอาจมีความเสี่ยงผลขาดทุนได้ เมื่อการส่งมอบชัดเจน เอกชนจะได้เตรียมแผนก่อสร้างได้” นายคณิศ กล่าว

สำหรับแผนการส่งมอบที่ดิน ที่ผ่านมาได้มีปัญหา เพราะการก่อสร้างแบบเดิม ภาคเอกชน ต้องไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงาน  จึงใช้เวลานาน และระยะเวลาไม่ชัดเจน  ส่งผลต่อแผนก่อสร้าง การประชุมครั้งนี้ จึงมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะทำให้การกำหนดระยะเวลา  การก่อสร้างชัดเจน   ยอมรับว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน  มีจุดตัดจำนวนมาก 230 จุด เกี่ยวข้องกับ  3 กระทรวง 8 หน่วยงาน  ซึ่งต้องปรับปรุงหรือโยกย้าย โดยสิ่งก่อสร้างที่ต้องรื้อถอน มีทั้งท่ออุโมงค์ยักษ์ ของ กทม. ระบบท่อประปาขนาดใหญ่ ของ กปน.  ระบบท่อก๊าซ ของ ปตท.  ท่อน้ำมันยาว 4 กิโลเมตร  การรื้อเสาไฟฟ้าแรงสูง 230 จุด ของ กฟผ. ย้ายเสาไฟลงใต้ดินความยาว 4 กิโลเมตร ของ กฟน. จึงได้ใช้กฎหมายของอีอีซี ให้ 8 หน่วยงานทำงานร่วมกัน และจัดสรรงบประมาณรองรับการรื้อถอน ก่อสร้างหลักร้อยล้านบาท นับว่าอยู่ในกรอบดำเนินการได้ 

ทั้งนี้ ที่ประชุม จึงสรุปแผนการส่งมอบพื้นที่  ในช่วงแอร์พอร์ต เรลลิงก์  เริ่มในวันที่ ภาคเอกชนคู่สัญญาชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ให้ แก่ รฟท.  สำหรับช่วงรถไฟความเร็วสูงช่วงลาดกระบัง – อู่ตะเภา ส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือนนับจากวันที่ลงนามใน สัญญาร่วมลงทุน  ช่วงแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย  ส่งมอบภายใน 2 ปี 3 เดือนนับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วม ลงทุนในวันที่ 25 ต.ค.นี้  ที่ประชุมยังตั้ง คณะทำงานการส่งมอบพื้นที่ และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคณะทำงาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการร่วมเป็นคณะทำงานได้ประมาณการความต้องการบุคลากรใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 475,000 ตำแหน่ง ใน 5 ปี

เว็บไซต์อ้างอิง : https://www.naewna.com/business/446553

#รถไฟฟ้า #รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน #กระทรวงการคลัง #กระทรวงคมนาคม

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ